คู่มือเตรียมสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ สอบตรง ภาคบัณฑิต (208 หน้า)

*** ชี้แจงโครงการ “ติวเข้มสอบเข้านิติศาสตร์ สอบตรง & ภาคบัณฑิต ปี 2557” by TutorlawGroup

โครงการ “ติวเข้มสอบเข้านิติศาสตร์ สอบตรง & ภาคบัณฑิต ปี 2557” by TutorlawGroup สวัสดีครับทุกท่าน
ในช่วงนี้ทุกคนคงกำลังเตรียมตัวที่จะสอบข้อเขียน โครงการนิติศาสตร์ สอบตรง & ภาคบัณฑิต และเพื่อเป็นแรงผลักดันทุกท่านที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ สามารถสอบเข้าให้ได้ตามที่มุ่งหวังไว้ TutorlawGroup จึงจัดโครงการ “ติวเข้มสอบเข้านิติศาสตร์ สอบตรง & ภาคบัณฑิต ปี 2557” เหมือนเช่นทุกปี
กำหนดการติวเข้มสอบเข้านิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (สอบตรง)57 เหลือรอบเดียวคือ เรียนวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2556 และ วันเสาร์ที่ 8 มกราคม 2557 เวลา 08.30 – 13.00 น. สอบวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2557 องค์ประกอบวิชาและค่าน้าหนักแต่ละวิชาที่ใช้ในการสอบคัดเลือก (สอบข้อเขียน) รวม 100 คะแนน ดังนี้ 1. วิชาความถนัดทั่วไป (GAT รหัส 85) 30 % 2. วิชาภาษาอังกฤษ 10 % 3. วิชาเฉพาะ 60 % 3.1 วิชาความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมาย 10 % 3.2 วิชาความสามารถในการใช้เหตุผลทางกฎหมาย 30 % 3.3 วิชาเรียงความ 10 % 3.4 วิชาย่อความ 10 %
ส่วนการสอบเข้าโครงการนิติศาสตร์ ภาคบัณฑิต ของผู้จบปริญญาตรีสาขาอื่นมาแล้วนั้น ของทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีความแตกต่างดังนี้ กำหนดการติวเข้มสอบเข้านิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ & จุฬา (ภาคบัณฑิต)2557 รอบแรก เดือนกุมภาพันธ์ 57 เรียนวันเสาร์ที่ 8 และ 15เวลา 08.30 – 13.00 น. รอบที่สอง เดือนมีนาคม 57 เรียนวันเสาร์ที่ 8 และ 15 เวลา 08.30 – 13.00 น.
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นิติ ธรรมศาสตร์ ภาคบัณฑิต เปิดรับสมัคร 1 ตุลาคม 2556 – 31 มกราคม 2557 สอบวันที่ 30 มีนาคม 2557 1. ความรู้ทั่วไป 20 ข้อ 20 คะแนน 2. ความสามารถในการใช้เหตุผลทางกฎหมาย 15 ข้อ 30 คะแนน 3. ย่อความ 1 ข้อ 25 คะแนน 4. เรียงความ 1 ข้อ 25 คะแนน คลิ๊กเพื่อดูกำหนดการสอบนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต ธรรมศาสตร์ ปี 2556
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – ข้อสอบอัตนัย (ข้อเขียน) ประมาณ 3 – 4 ข้อ และข้อสอบเรียงความ ย่อความ
คลิ๊กเพื่อดู กำหนดการสอบ ภาคบัณฑิต จุฬา ปี 2556 !!!
นิติ จุฬา ภาคบัณฑิต เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ ถึง 30 เมษายน 2557 สอบวันที่ 11 พฤษภาคม 2557 ความสามารถในการใช้เหตุผลทางกฎหมาย ย่อความ เรียงความ 100 คะแนน ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมโทร 0859913533

คลังความรู้สำหรับสอบเข้าคณะนิติศาสตร์

วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551

สำนักนายกรัฐมนตรี !?

ข้อสอบกฎหมายของนิติ มธ มีลักษณะเด่นคือ ชอบเอาความรู้ทั่วไปมาออกครับ ดังนั้น พยายามศึกษาหาความรู้กว้างๆ ครับ เพื่อให้เรารอบรู้ ไม่ใช่แต่เฉพาะความรู้กฎหมายเท่านั้น เรื่องเกี่ยวกับ สำนักนายกรัฐมนตรี ก็น่าสนใจครับ วันนี้ พี่กอล์ฟขอนำเสนอข้อมูลนี้เป็นของขวัญในวันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ครับ ไม่แน่อาจจะออกเป็นข้อสอบก็ได้ใครจะรู้ ^^

สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นส่วนราชการของรัฐบาลไทย มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รับผิดชอบการบริหารราชการทั่วไป เสนอแนะนโยบายและวางแผนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคง และราชการเกี่ยวกับงบประมาณ ระบบราชการ การบริหารงานบุคคล กฎหมายและการพัฒนากฎหมาย การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการ การปฏิบัติภารกิจพิเศษ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรี หรือส่วนราชการที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือที่มิได้อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงใดโดยเฉพาะ

 ที่มาจากเวบ http://www.opm.go.th/opmportal/index.asp?pageid=1629&parent=1629&directory=12153&pagename=content1

ส่วนรัฐวิสาหกิจในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

หน่วยงานอิสระภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

 องค์การมหาชนภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี



ส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี



ส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2551

นิติกรรมที่มีผลเป็นโมฆียะ ตอนที่ 2 ความสามารถของบุคคลในการทำนิติกรรม

บุคคลที่กฎหมายคุ้มครองความสามารถเกี่ยวกับการแสดงเจตนาทำนิติกรรมหรือเรื่องความสามารถของบุคคลในการทำนิติกรรม มีด้วยกัน 4ประการคือ

1. ผู้เยาว์


ผู้เยาว์ คือ ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยจะกระทำการใดนั้นจะต้องผ่านความยินยอม เห็นชอบจากผู้แทนโดยธรรมก่อนหรือผู้แทนโดยชอบธรรมทำแทน หากไม่กระทำตามกฎหมาย ผลที่เกิดขึ้นคือ นิติกรรมนั้นเป็น โมฆียะ


2. บุคคลวิกลจริต

บุคคลวิกลจริตคือ บุคคลที่มีจิตใจผิดปกติ หากขณะที่ทำนิติกรรมใด ๆ คนวิกลจริตนั้นมีสภาพจิตใจสมบูรณ์ นิติกรรมนั้นย่อมสมบูรณ์ แต่หากว่าได้กระทำนิติกรรมในขณะจริตวิกลและคู่สัญญาทราบว่าบุคคลนั้นเป็นคนวิกลจริต นิติกรรมนั้นมีผลเป็นโมฆียะ อย่างไรก็ตาม หากคู่สัญญาที่ร่วมทำนิติกรรม ไม่ทราบว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลที่ร่วมทำเป็นบุคคลวิกลจริต ตามกฎหมายจะถือว่านิติกรรมนั้น สมบูรณ์


3.คนไร้ความสามารถ

คนวิกลจริตที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถเรียกว่า คนไร้ความสามารถ ซึ่งหากทำนิติกรรมจะมีผลเป็น โมฆียะ ดังนั้นผู้อนุบาล ต้องทำแทน


4. คนเสมือนไร้ความสามารถ

คนเสมือนไร้ความสามารถหมายถึง บุคคลมีกายพิการ หรือ ติดสุรายาเมา หรือ เสเพลเป็นอาจิณ ศาลสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หากทำคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำนิติกรรม ๆ นั้นย่อมสมบูรณ์ เว้นแต่การทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินที่สำคัญ ต้องขอความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิเช่นนั้นจะถือว่าผลเป็นโมฆียะ

วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551

นิติกรรมที่มีผลเป็นโมฆียะ ตอนที่ 1 การแสดงเจตนาที่มีผลเป็นโมฆียะ

นิติกรรมเป็นโมฆียะ หมายถึง นิติกรรมที่มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมายตั้งแต่เริ่มแรกและสมบูรณ์อยู่ต่อไปจนกว่าจะถูกบอกล้างให้สิ้นผล

ถ้าบอกล้างโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วจะทำให้ นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่เริ่มแรก และทำให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม

แต่ถ้านิติกรรมอันเป็นโมฆียะได้มีการให้สัตยาบันแล้ว นิติกรรมนั้นก็เป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรกเช่นกัน นิติกรรมที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นโมฆียะนั้นเรียกว่าโมฆียกรรม

เหตุที่ทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะเกิดจากความสามารถบกพร่องของบุคคลและการแสดงเจตนาของบุคคลในการเข้าทำนิติกรรมอันได้แก่ นิติกรรมที่มิได้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถของบุคคล การแสดงเจตนาสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลและทรัพย์สิน การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่ การแสดงเจตนาของบุคคลวิกลจริต เป็นต้น


การแสดงเจตนาที่มีผลเป็นโมฆียะ



1.สำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน

หลักกฎหมายกำหนดว่าการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สินเป็นโมฆียะ

คำว่า คุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน ตามปกติไม่ได้หมายความแต่เพียงรูปร่าง เนื้อตัวแต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงคุณสมบัติทั้งหลายที่มีผลกระทบถึงความเชื่อถือ กระทบถึงคุณค่าแห่งบุคคลหรือทรัพย์สินอันถือว่าคุณสมบัติเป็นสำคัญ การแสดงเจตนาได้แสดงถูกต้องแต่สำคัญผิดในคุณสมบัติ

เช่น นายดำเจตนาจ้างนายแดงมาสร้างบ้านเป็นตึก ปรากฏว่า นายแดงเป็นช่างสร้างบ้านจริง แต่สร้างได้เฉพาะบ้านไม้ หรือนายดำต้องการซื้อม้าชื่อดาวคะนอง เพราะทราบว่าวิ่งเร็วมาก และได้ซื้อม้าชื่อดาวคะนองตามที่ตั้งใจไว้ แต่ปรากฏว่าม้าดาวคะนอง ไม่เคยวิ่งแข่งขันเลย



2.การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลย่อมตกเป็นโมฆียะ

คำว่ากลฉ้อฉลคือการใช้อุบายหลอกลวงให้อีกฝ่ายหนึ่งหลงผิดหรือเข้าใจผิดจะเป็นโดยกล่าวเท็จหรือปกปิดความจริง เพื่อให้เขาหลงเชื่อเข้าทำนิติกรรมด้วย หรือพูดให้ง่ายขึ้นก็คือการหลอกลวงให้เขาสำคัญผิดแล้วเข้าทำนิติกรรมด้วย

อนึ่ง ข้อแตกต่างระหว่างสำคัญผิดกับกล ฉ้อฉลอยู่ที่ว่าถ้าผู้แสดงเจตนาวิปริตเข้าทำนิติกรรมด้วยตัวเขาเองเรียกว่า สำคัญผิดแต่ถ้ามีบุคคลมาหลอกลวงให้ผู้แสดงเจตนาสำคัญผิดเข้าทำนิติกรรมเรียกว่า กลฉ้อฉล

เช่นนายเอกหลอกลวงนายโทให้ซื้อเครื่องปั่นไฟ แต่ที่จริงเป็นเพียงไฟฉายธรรมดา นิติกรรมซื้อขายเกิดจากการหลอกลวงของนายเอก สัญญาตกเป็นโมฆียะ



3.การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่ หลักกฎหมายกำหนดว่าการแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ

การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้นจะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะทำให้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้นลักษณะการข่มขู่ที่จะทำให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆียะมีได้ 2 ประการ คือ

(1) ภัยที่ข่มขู่ต้องเป็นภัยใกล้จะถึง เช่น ผู้ข่มขู่ถือมีดเข้ามาใกล้ประชิดตัว

(2) ภัยที่ข่มขู่ต้องร้ายแรงถึงขนาด เช่น เมื่อผู้ข่มขู่เข้ามาใกล้ประชิดตัวแล้วยังใช้มีดจ่อที่คอ พร้อมพูดว่า ถ้าไม่ลงลายมือชื่อในสัญญาจะเอามีดแทงคอให้ตาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกข่มขู่กลัว จึงยอมลงลายมือชื่อในสัญญา

วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551

นิติกรรมที่มีผลเป็นโมฆะ ตอนที่ 3 การแสดงเจตนาบางกรณีในการทำนิติกรรม

การแสดงเจตนาที่มีผลเป็นโมฆะ

เจตนาซ่อนเร้น เจตนาลวง และนิติกรรมอำพราง เจตนาที่แท้จริงของบุคคลย่อมเกิดขึ้นในใจก่อน ต่อมาจึงแสดงออกซึ่งเจตนาที่แท้จริงอยู่ในใจนั้น ถ้าเจตนาที่แท้จริงในใจกับเจตนาที่แสดงออกตรงกันปัญหาก็ไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าไม่ตรงกันจะเป็นโดยตั้งใจคือรู้ตัวในการแสดงเจตนาหรือไม่ตั้งใจคือแสดงโดยไม่รู้ตัว ปัญหาย่อมเกิดขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว กฎหมายจึงวางหลักไว้ ดังนี้

1เจตนาซ่อนเร้น

หลักกฎหมาย การแสดงเจตนาใด แม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม หาเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะไม่ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น

อธิบาย ผลของการแสดงเจตนาซ่อนเร้นขึ้นอยู่กับว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้หรือไม่ว่าคู่กรณีฝ่ายที่แสดงเจตนาออกมาให้ปรากฏนั้นต้องการผูกนิติสัมพันธ์ด้วยหรือไม่ หากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ

เช่น ผู้แสดงเจตนาทำหนังสือแสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า ยอมคืนที่ดินที่เปล่าให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง ภายหลังบุคคลที่แสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองยอมคืนที่ดินมือเปล่า อ้างว่าไม่มีเจตนาสละการครอบครองที่ดิน ที่ทำหนังสือฉบับนั้นให้ก็เพื่อให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นดีใจจะได้หายวิกลจริต ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นิติกรรมที่แสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองนั้นสมบูรณ์ เพราะฝ่ายที่ได้รับการสละนั้นไม่รู้เรื่องด้วยว่าไม่ได้ตั้งใจคืนให้จริงๆ ดังนั้น หากฝ่ายที่ได้รับการสละรู้ว่าที่ทำหนังสือฉบับนั้นให้ก็เพื่อให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นดีใจจะได้หายวิกลจริต นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ

ข้อสังเกต

เจตนาที่แสดงออก คือ ผู้แสดงเจตนาทำหนังสือแสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า

เจตนาที่แท้จริง(ที่ซ่อนเร้นไว้) คือ เพื่อให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นดีใจจะได้หายวิกลจริต

กฎหมายกำหนดว่า ให้ผูกพันตามเจตนาที่แสดงออก จะอ้างเจตนาภายในใจของตนไม่ได้ ส่งผลให้นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์อยู่นั่นเอง อย่างไรก็ตามหากคู่กรณีได้รู้ถึงเจตนาภายในใจ นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ


2เจตนาลวง

หลักกฎหมาย การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

อธิบาย การแสดงเจตนาลวง คือ การที่ผู้แสดงเจตนาทั้งสองฝ่ายสมรู้กัน โดยต่างก็รู้ตัวอยู่ในขณะที่แสดงเจตนาออกมาว่า เจตนาที่ตนแสดงออกนั้นไม่ตรงกับเจตนาแท้จริงที่ตนมีอยู่ในใจ แต่เป็นการแสดงเจตนาออกมาเพื่อที่จะหลอกลวงบุคคลภายนอกอื่นๆ โดยมิได้มีเจตนาที่จะผูกพันเลย

ผลของการแสดงเจตนาลวง แบ่งได้เป็น 2กรณี คือ

1. ผลของนิติกรรมที่เกิดขึ้นกับคู่กรณี นิติกรรมเป็นโมฆะเสมอ

2. ผลของนิติกรรมที่เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอก จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้สุจริตและต้องเสียหายอันเกิดแต่การแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

เช่น นายเอกซื้อรถจักรยานยนต์คันใหม่ แต่กลัวนายโทผู้เป็นเจ้าหนี้จะตามมายึด จึงแกล้งลวงนายโทว่าตนขายรถจักรยานยนต์คันนี้ให้แก่นายตรีไปแล้ว แต่ในความจริง นายเอกกับนายนายตรีตกลงกันว่าไม่ได้ขาย สัญญาซื้อขายระหว่างนายเอกกับนายนายตรีจึงตกเป็นโมฆะ แต่ถ้าต่อมานายตรีร้อนเงินและขายรถจักรยานยนต์ต่อไปให้แก่นายจัตวา โดยนายจัตวาไม่ทราบเรื่องระหว่างนายเอกกับนายนายตรีมาก่อน นายเอกจะยกเจตนาลวงระหว่างนายเอกกับนายนายตรีมาอ้างกับนายจัตวาไม่ได้


3เจตนาอำพรางหรือนิติกรรมอำพราง

หลักกฎหมาย ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ

อธิบาย นิติกรรมอำพราง คือ การที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันทำนิติกรรมอันหนึ่งขึ้นมาให้ปรากฏ ซึ่งในเจตนาที่แท้จริงมิได้ต้องการผูกพันตามนิติกรรมนี้ แต่ทำเพื่อจะอำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่ง ซึ่งคู่กรณีปิดบังไว้และต้องการที่จะผูกพันต่อกันนิติกรรมอำพรางจึงเป็นเรื่องคู่กรณีแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นมาอย่างน้อย 2นิติกรรม คือมีนิติกรรมอันหนึ่งที่ประสงค์ผูกพันกันแต่ปกปิดไว้ โดยคู่กรณีได้ทำนิติกรรมอันที่สองซึ่งไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงขึ้น (นิติกรรมลวงซ้อนนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาที่แท้จริง) เพราะฉะนั้นนิติกรรมที่ปรากฏจึงเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง ซึ่งเป็นโมฆะ ส่วนนิติกรรมที่แท้จริงแต่ถูกปกปิดไม่ให้คนอื่นรู้ ย่อมมีผลบังคับได้

เช่น นายเอกและนายโทต้องการทำสัญญาซื้อขายรถกัน แต่กลับไปทำสัญญาเช่ารถโดยไม่มีเจตนาจะผูกพันตามสัญญาเช่ารถ สัญญาเช่ารถพิพาทจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์และจำเลย เป็นโมฆะ และต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขายรถ

ข้อสังเกต

1.นิติกรรมที่แสดงออก คือ นายเอกและนายโททำสัญญาเช่ารถกัน

2.นิติกรรมที่ถูกอำพราง คือ นายเอกและนายโทต้องการทำสัญญาซื้อขายรถ

กฎหมายกำหนดว่า นิติกรรมที่แสดงออก คือการลวงบุคคลภายนอกจึงตกเป็นโมฆะ ดังนั้นสัญญาเช่ารถจึงเป็นโมฆะ และให้คู่กรณีผูกพันกันตามนิติกรรมที่ถูกอำพรางคือสัญญาซื้อขายรถแทน


4.สำคัญผิดในสาระสำคัญของบุคคลหรือทรัพย์สิน

การสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ

1.โดยสำคัญผิดในตัวนิติกรรม เช่น เข้าใจว่าทำสัญญาซื้อขาย แต่สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาเช่า

2.บุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมนั้น เช่น นส.จันต้องการสมรสกับนายฝันเด่น แต่เข้าใจผิดว่าคิดว่าฝันดีเป็นฝันเด่นจึงเข้าพิธีแต่งงานด้วย

3.ในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เช่น นายเอกต้องการซื้อที่ดินติดถนนของนายโท แต่ที่ดินดังกล่าวที่นำมาขายกลับเป็นที่ดินแปลงอื่น

วันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2551

นิติกรรมที่มีผลเป็นโมฆะ ตอนที่ 2 แบบของนิติกรรม

แบบแห่งนิติกรรม หมายถึง หลักเกณฑ์หรือพิธีการอันใดอันหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ แบบแห่งนิติกรรม แบ่งได้เป็น 5 แบบคือ

1. แบบทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กฎหมายกำหนดไว้ว่า นิติกรรมประเภทใดบ้างที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้าไม่ทำจะเป็นโมฆะ ทันทีไม่มีผลบังคับตามกฎหมายแต่อย่างใด เช่น การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ การขายฝาอสังหาริมทรัพย์ แลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ การให้ การจำนอง เป็นต้น เป็นทรัพย์สินประเภทที่มีค่ามากรัฐต้องเข้าควบคุมการโอน การเปลี่ยนมือ เพื่อป้องกันการหลอกลวง การฉ้อโกง การข่มขู่ซึ่งอาจเกิดมีขึ้นได้

2. แบบต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ประเภทนี้กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ แต่บังคับให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญ จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ จัดตั้งบริษัทจำกัด การจดทะเบียนบริษัท การจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม เป็นต้น

3. แบบต้องทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมแบบนี้คล้ายการจดทะเบียน ต่างที่เพียงแต่ไปปรากฏตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แสดงตนโดยทำเป็นหนังสือไม่มีแบบพิมพ์หรือแบบฟอร์มให้ เช่น ทำพินัยกรรมฝ่ายเดียว ทำพินัยกรรมเอกสารลับ เป็นต้น

4. แบบต้องทำเป็นหนังสือระหว่างกันเอง คือ ไม่จำเป็นต้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับรู้เป็นเพียงเกี่ยวข้องกันระหว่างคู่สัญญา เช่น ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ การโอนหนี้สัญญาหย่าโดยความยินยอม เป็นต้น

5. แบบอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ เป็นแบบเฉพาะตามที่กฎหมายกำหนดเป็นเรื่องๆ ไปต่างไปจากนิติกรรม 4 แบบ ดังกล่าวข้างต้น แต่เป็นนิติกรรมที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษ เช่น เช็ค ต้องมีรายการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ตั๋วสัญญาใช้เงินต้องมีรายการระบุไว้ มิฉะนั้นจะเป็นเช็คและตั๋วสัญญาใช้เงินที่ไม่สมบูรณ์ เป็นต้น

นิติกรรมที่มีผลเป็นโมฆะ ตอนที่ 1 วัตถุประสงค์

นิติกรรมที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นโมฆะเรียกว่า โมฆะกรรม หมายถึง

1.ความเสียเปล่า ใช้บังคับกันไม่ได้เลย

2.กฎหมายไม่ยอมรับรองการกระทำการใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีความผูกพันใดๆ ในทางกฎหมายเกิดขึ้น

3.ไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้เลย

นิติกรรมที่เป็นโมฆะ ได้แก่ นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยขัดต่อความสงบ เรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมไม่ถูกต้องตามแบบ การแสดงเจตนาซ่อนเร้น การแสดงเจตนาลวง และการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่ง นิติกรรม เป็นต้น


------------------------------------------------------------------------------------


ขออธิบายนิติกรรมที่เป็นโมฆะกรณีแรก ซึ่งได้แก่ วัตถุประสงค์ของนิติกรรม

วัตถุประสงค์ของนิติกรรม คือ ประโยชน์อันเป็นผลสุดท้ายที่ผู้แสดงเจตนาออกทำนิติกรรม มุ่งประสงค์ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในสิทธิ แยกพิจารณาได้ คือ

1.การใดมีวัตถุประสงค์ของนิติกรรมต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ เช่นสัญญาว่าจ้างฆ่าคน มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาว่าจ้างนั้นเป็นโมฆะ

2.วัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย คือ วัตถุประสงค์ที่เป็นไปไม่ได้เมื่อคู่กรณีได้แสดงเจตนาทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์พ้นวิสัยมาตั้งแต่ขณะทำนิติกรรมแล้ว ก็เท่ากับว่าคู่กรณีตั้งใจมิให้นิติกรรมที่ทำนั้นบังเกิดผลตามกฎหมายเลย กฎหมายจึงไม่อาจบังคับให้ได้ เพราะคู่กรณีมิได้มีเจตนาให้เกิดผลอยู่แล้ว เช่นสัญญาว่าจ้างปลูกบ้านบนดวงอาทิตย์ เป็นนิติกรรมที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง สัญญานั้นมีผลเป็นโมฆะเนื่องจากวัตถุประสงค์เป็นอันพ้นวิสัย

3. วัตถุประสงค์ของนิติกรรมขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ เช่นสัญญาขายอวัยวะของร่างกายมนุษย์ มีวัตถุประสงค์ของนิติกรรมขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญานั้นเป็นโมฆะ

.

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ความสมบูรณ์ของนิติกรรม

นิติกรรมที่ทำขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว นิติกรรมสองฝ่ายหรือนิติกรรมประเภทอื่นๆ ก็ตาม หากเข้าหลักเกณฑ์ถูกต้องใน 4ประการดังที่จะกล่าวต่อไป นิติกรรมนั้นย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย

1.วัตถุประสงค์แห่งนิติกรรม
2.แบบแห่งนิติกรรม
3.การแสดงเจตนาของผู้ทำนิติกรรม
4.ความสามารถของบุคคลในการทำนิติกรรม


ดังนั้น ถ้านิติกรรมนั้นไม่ถูกต้อง หรือ บกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4ประการดังกล่าวข้างต้น นิติกรรมนั้นก็ไม่สมบูรณ์

ความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรมจะมีผลในกฎหมาย 2ประการ คือ
1. มีผลเป็นโมฆะ หรือ
2. มีผลเป็นโมฆียะ

บ่อเกิดแห่งหนี้ - นิติกรรมสัญญา ตอนที่ 1

นิติกรรม หมายถึง การกระทำของบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัครมุ่งในการผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในสิทธิ ซึ่งนิติกรรมอาจมีได้ทั้งนิติกรรมฝ่ายเดียว เช่น พินัยกรรม และนิติกรรมสองฝ่าย เช่น สัญญาซื้อขาย เป็นต้น

สัญญา หมายถึง นิติกรรมสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายที่เกิดจากการแสดงเจตนาเสนอสนองต้องตรงกันของบุคคลสองฝ่ายขึ้นไป มุ่งที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือระงับนิติสัมพันธ์

ฉะนั้นสัญญาก็คือนิติกรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งหลักทั่วไปของนิติกรรมต้องนำมาใช้กับสัญญาด้วย เว้นแต่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ

วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

บ่อเกิดแห่งหนี้

“บ่อเกิดแห่งหนี้” หรือ“มูลแห่งหนี้” มีหมายความว่า สิ่งที่ทำให้เกิดหนี้ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2ประการ ดังนี้

1.นิติกรรม

นิติกรรม หมายถึงการกระทำของบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัครมุ่งในการผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในสิทธิ ซึ่งนิติกรรมอาจมีได้ทั้งนิติกรรมฝ่ายเดียว เช่น พินัยกรรม และนิติกรรมสองฝ่าย เช่น สัญญา ก็ได้
สัญญา หมายถึงนิติกรรมสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายที่เกิดจากการแสดงเจตนาเสนอสนองต้องตรงกันของบุคคลสองฝ่ายขึ้นไป มุ่งที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือระงับนิติสัมพันธ์ ฉะนั้นสัญญาก็คือนิติกรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งหลักทั่วไปของนิติกรรมต้องนำมาใช้กับสัญญาด้วย เว้นแต่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ

เมื่อมีนิติสัมพันธ์กันย่อมก่อให้เกิดสิทธิหน้าที่ต่อกัน ซึ่งสิทธิหน้าที่เหล่านี้ย่อมแตกต่างกันไปตามลักษณะของนิติกรรมสัญญานั้น และเพื่อความสงบเรียบร้อยและความสงบสุขของสังคมโดยส่วนรวม กฎหมายจึงได้กำหนดสิทธิหน้าที่ของบุคคลที่ก่อนิติสัมพันธ์ดังกล่าวให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และกฎเกณฑ์ของความสัมพันธ์นั้นโดยยุติธรรม

2.นิติเหตุ

นิติเหตุ คือ เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดผลในกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยอำนาจของกฎหมาย

2.1 ละเมิด คือบุคคลได้กระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิทธิเด็ดขาดของบุคคลหรือสิทธิเด็ดขาดอื่น ๆ

2.2 การจัดการงานนอกสั่ง คือการที่บุคคลหนึ่งเข้าไปจัดการงานแทนบุคคลอีกคนหนึ่งโดยที่ไม่ได้รับมอบหมายให้กระทำ หากจัดการดังกล่าวสมประโยชน์ผู้จัดก็มีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายที่ตนได้ออกไปก่อนได้ แต่ถ้าขัดและทำให้เกิดความเสียหายก็ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

2.3 ลาภมิควรได้ คือการที่บุคคลหนึ่งได้รับทรัพย์สินจากบุคคลอื่นโดยไม่มีกฎหมายรองรับจึงต้องคืนให้แก่อีกฝ่าย

2.4 ประการอื่น ๆ เช่น ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร, กฏหมายศุลกากร

ความหมายของหนี้

หนี้ คือ ความผูกพันทางกฎหมายระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย ซึ่งฝ่ายหนึ่งเรียกว่า "เจ้าหนี้" และ อีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า "ลูกหนี้"

เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาแก่ลูกหนี้ ในทางกลับกัน ลูกหนี้ก็มีหน้าที่ชำระตามที่เจ้าหนี้เรียกร้อง

ถ้ากล่าวคำว่า “หนี้” นั้นจะมีความหมายเช่นเดียวกับ บุคคลสิทธิ, สิทธิเหนือบุคคล และสิทธิเรียกร้องนั้น

ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้จึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล อาจเรียกได้ว่าเป็นบุคคลสิทธิระหว่างกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า บุคคลสิทธิเป็นสิทธิที่ใช้ยันระหว่างคู่กรณี(เจ้าหนี้-ลูกหนี้) นั่นเอง

ดังนั้น หากนายเอกผู้เป็นบิดาติดหนี้นายโทหลายสิบล้าน นายโทเจ้าหนี้จะมาบังคับเอากับนายตรีผู้เป็นลูกนายเอกไม่ได้ เพราะนายโทกับนายตรีไม่มีบุคคลสิทธิใด ๆ ต่อกัน หรือพูดอีกอย่างว่าไม่มีหนี้ใด ๆ ต่อกัน

เมื่อปรากฎว่าลูกหนี้ไม่กระทำตามหน้าที่ในสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีอยู่นั้น เจ้าหนี้ต้องบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ซึ่งการบังคับชำระหนี้นั้นจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าต้องมีการดำเนินกระบวนพิจารณาทางแพ่งโดยฟ้องคดีต่อศาลเท่านั้น

วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2551

วัตถุแห่งสิทธิ (Object of Right)

องค์ประกอบของสิทธิ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1.ประธานแห่งสิทธิ (Subject of Right)
2.วัตถุแห่งสิทธิ (Object of Right)

ได้อธิบายเรื่อง ประธานแห่งสิทธิ (Subject of Right) หรือ กฏหมายเกี่ยวบุคคลไปแล้ว ต่อมาผมจะอธิบายเรื่อง วัตถุแห่งสิทธิ (Object of Right)

----------------------------------------------------------------------------------

วัตถุแห่งสิทธิ (Object of Right) ในทางกฎหมายเรียกว่า “ทรัพย์หรือทรัพย์สิน”

ความหมายของทรัพย์และทรัพย์สิน

ทรัพย์ หมายถึง วัตถุมีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ โดยที่ทรัพย์นั้นสามารถจับต้อง และรับรู้ด้วยระบบประสาทสัมผัสได้ เช่น บ้าน เงิน รถยนต์ เป็นต้น

ทรัพย์สิน หมายถึง วัตถุทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคา (คือ มีคุณค่า โดยอาจมีคุณค่าทั้งทางเศรษฐกิจหรือจิตใจก็ได้) และถือเอาได้ (คือ การแสดงความเป็นเจ้าของต่อของสิ่งนั้น)

ประเภทของทรัพย์สิน

1. อสังหาริมทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ เช่น ที่ดิน บ้าน กำแพง โกดัง โรงงาน สะพาน เจดีย์ ไม้ยืนต้น(คือพันธุ์ไม้ที่มีอายุยืนกว่า 3 ปี ถือเป็นไม้ยืนต้นทั้งสิ้น ต้นพลูจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์เพราะอายุยืนกว่า 3 ปี) ทรัพย์ที่วางอยู่บนดินแม้จะนานเท่าใดเพราะไม่ใช่ทรัพย์ที่ติดอยู่กับที่ดิน ดังนั้นแผงลอยไม่เป็นอสังหาริมทรัพย์

2. สังหาริมทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย รถยนต์ เครื่องบิน โต๊ะ เก้าอี้ สมุด ปากกา ดินสอ วิทยุ โทรทัศน์ พลังน้ำตก แก๊ส พลังไอน้ำ เป็นต้น

3. ทรัพย์แบ่งได้ หมายถึง ทรัพย์ที่สามารถแยกออกจากกันเป็นส่วนๆได้ เช่น น้ำตาล ข้าวสาร


4. ทรัพย์แบ่งไม่ได้ หมายถึง ทรัพย์ที่จะแยกออกจากกันไม่ได้ นอกจากจะต้องการเปลี่ยนสภาพของทรัพย์นั้นๆ เช่น เก้าอี้ บ้าน เป็นต้น

5. ทรัพย์นอกพาณิชย์ หมายความว่า ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย พูดอย่างง่าย ๆ ก็คือ ทรัพย์ที่ไม่อาจยึดถือเอาได้

เช่น ดวงดาวบนท้องฟ้า สายลม แสงแดด หรืออีกประเภทหนึ่ง คือ ทรัพย์ที่ไม่สามารถซื้อขายกันได้ เช่น ฝิ่น เฮโรอีน ปืนเถื่อน และอีกประเภทหนึ่งคือ ทรัพย์ที่โอนแก่กันไม่ได้ เช่น ที่ธรณีสงฆ์ (ทั้งนี้ จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยออกพระราชบัญญัติ)

-------------------------------------------------------------------------------------

องค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องของทรัพย์มีดังนี้

1.ส่วนควบ
คือ มีความสำคัญในตัวทรัพย์ประธาน และ ไม่สามารถแยกออกจากทรัพย์ประธานได้ เช่นพวง มาลัยรถยนต์, ผลส้ม-เปลือกส้ม, ตึก-ลิฟท์

ทรัพย์ส่วนควบนั้นต้องมีการเอาทรัพย์ตั้งแต่สองอย่างมารวมกันเข้าและเกิดเป็นทรัพย์สิ่งใหม่เกิดขึ้น เช่น เอาเรือนมาปลูกบนที่ดิน เรือนย่อมเป็นส่วนควบกับที่ดิน เว้นแต่ผู้ปลูกเรือนจะมีสิทธิเหนือพื้นดินหรือสิทธิตามสัญญาอื่น เช่น เช่าที่ดินเพื่อปลูกบ้าน เมื่อหมดสัญญาย่อมรื้อบ้านไปได้

เจ้าของทรัพย์ ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น เช่นเจ้าของที่ดินย่อมเป็นเจ้าของเรือนด้วย

2.อุปกรณ์
คือ สิ่งที่เป็นของใช้ประจำเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์ประธาน ซึ่งอุปกรณ์นั้นสามารถแยกจากทรัพย์ได้ เช่น รถยนต์-ล้ออะไหล่, เรือข้ามฟาก-ห่วงชูชีพ, ดินสอ-ไส้ดินสอ, เรือ-พาย, ม้า-อานม้า

อุปกรณ์ย่อมติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธาน เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เช่น ซื้อรถยนต์ย่อมได้เครื่องอุปกรณ์ ยางอะไหล่ แม่แรงด้วย เว้นแต่จะตกลงกันว่าไม่ให้เครื่องอุปกรณ์หรือยางอะไหล่ด้วย

3. ดอกผล แบ่งได้ 2 ชนิดดั้งนี้

3.1. ดอกผลธรรมดา คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ผลไม้ (ต้นมะม่วง - ผลมะม่วง), ไข่ไก่, นมวัว

3.2. ดอกผลนิตินัย คือ ดอกผลทางกฎหมายที่กฎหมายได้สมมติขึ้น โดยได้มาจากการที่บุคคลอื่นใช้ ทรัพย์นั้น และบุคคลผู้เป็นเจ้าของได้ทรัพย์เป็นการตอบแทน เช่น ค่าเช่าจากการให้ผู้อื่นเช่าบ้าน เป็นต้น

วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ประธานแห่งสิทธิตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เคยกล่าวไปแล้วว่า เครื่องมือของกฎหมายที่ใช้ในการจัดความสัมพันธ์ของคนในสังคมคือ สิทธิ หน้าที่ ความรับผิด เช่น นายเอกมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ทุกคนย่อมมีหน้าที่จะไม่ทำร้ายนายเอก หากว่า มีผู้ใดทำร้ายนายเอก ตามธรรมดาแล้ว ย่อมต้องถูกลงโทษ

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็มี สิทธิ หน้าที่ ความรับผิด เป็นเครื่องมือของกฎหมายที่ใช้ในการจัดความสัมพันธ์ของคนในสังคมเช่นกัน แต่ก่อนที่จะลงรายละเอียด ต้องทราบหลักการพื้นฐานก่อนว่า องคืประกอบแห่งสิทธินั้น ประกอบด้วยอะไรบ้าง

องค์ประกอบของสิทธิ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. ประธานแห่งสิทธิ (Subject of Right)
2. วัตถุแห่งสิทธิ (Object of Right)


ขออธิบายเกี่ยวกับประธานแห่งสิทธิ (Subject of Right)ก่อน

ประธานแห่งสิทธิ หมายถึงผู้ทรงสิทธิในทางกฎหมาย อาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่สามารถใช้สิทธิได้ตามกฎหมายนั่นเอง ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่า “บุคคล” แยกเป็น 2 ประเภทคือ
1.บุคคลธรรมดา
2.นิติบุคคล

-------------------------------------------------------------------------------------
1.บุคคลธรรมดา
-------------------------------------------------------------------------------------

การเริ่มต้นและการสิ้นสุดของสภาพบุคคล

+สภาพบุคคลย่อมเริ่มเมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารก
+สภาพบุคคลสิ้นสุดลงเมื่อตาย

ข้อสังเกต

1.การตายแบ่งออกเป็นการตายโดยธรรมชาติและการตายโดยผลของกฎหมาย

2.การตายโดยผลของกฎหมาย ในทางกฎหมายเรียกว่า "สาบสูญ” คือการที่มีทายาทของบุคคลนั้นหรือพนักงานอัยการไปร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลว่าบุคคลเป็นคนสาบสูญ โดยเงื่อนไขที่ศาลจะพิจารณาคือ

2.1.บุคคลนั้นหายไปจากถิ่นที่อยู่เป็นเวลา 5 ปี โดยไม่มีใครทราบข่าวของบุคคลนั้น หรือ
2.2.ได้ไปอยู่ในสมรภูมิแห่งสงคราม หรือไปตกในเรืออับปาง เมื่อนับเวลาหลังจากที่หมดสงครามแล้ว นับจากเรืออับปางได้สิ้นสุดไป แล้วเป็นเวลา 2 ปี และไม่มีใครรู้ว่าบุคคลนั้นอยู่ที่ไหนเป็นตายร้ายดีอย่างไร หรือ
2.3.กรณีพิเศษ (กรณีภัยพิบัติสึนามิ )

บุคคลที่ศาลสั่งว่าเป็นคนสาบสูญ ถือว่าตายเมื่อไร

ถ้าศาลสั่งว่าบุคคลนั้นเป็น "คนสาบสูญ" ด้วยเหตุดังกล่าวแล้ว ก็ต้องถือว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตายเช่นกัน และให้ถือว่าบุคคลนั้นตายลงเมื่อครบกำหนด 5 ปีหรือ 2 ปี แล้วแต่กรณี

เช่น นายเอ หายไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย.40 เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.48นางบีภริยาของนายเอได้ร้องขอต้อศาลเพื่อให้ศาลสั่งว่านายเอเป็น "คนสาบสูญ" ศาลมีคำสั่งให้นายเอเป็นบุคคลสาบสูญเมื่อวันที่ 10 ม.ค.50 ดังนั้นถือว่านายเอตายเมื่อวันที่ 1 พ.ย.45

การจำกัดการใช้สิทธิของบุคคล

เมื่อมีสภาพบุคคลแล้ว บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิต่างๆตามที่กฎหมายรองรับเช่น สิทธิในทรัพย์สิน หรือมีสิทธิในการทำการติดต่อกับบุคคลใด ๆ โดยนิติกรรมสัญญา อย่างไรก็ตามกฎหมายได้จำกัดการใช้สิทธิของบุคคลบางกลุ่มในการทำนิติกรรมสัญญาไว้ซึ่งมีสาระดังนี้

3.1. ผู้เยาว์

ผู้เยาว์ คือ ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เมื่อจะทำนิติกรรมใด ๆจะต้องผ่านความยินยอมเห็นชอบจากผู้แทนโดยธรรมเสียก่อน หรือผู้แทนโดยชอบธรรมทำนิติกรรมนั้นแทน หากฝ่าฝืน ผลที่เกิดขึ้นคือ นิติกรรมนั้นเป็น โมฆียะ

เช่น เด็กชายเอก อายุ 13 ปี ไปซื้อเครื่องซักผ้าในราคา 30000 บาท เพราะเด็กชายเอกขี้เกียจซักผ้าเอง นิติกรรมซื้อขายดังกล่าวเป็นโมฆียะ

อย่างไรก็ตาม มีนิติกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์บางอย่างที่มีความสำคัญ บิดามารดาจะกระทำแทนผู้เยาว์มิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตเช่น การขายที่ดิน ให้กู้ยืมเงิน ประนีประนอมยอมความ เป็นต้น

เกณฑ์ของผู้ที่จะบรรลุนิติภาวะมีดังนี้
1. อายุ 20ปีบริบูรณ์
2. ทำการสมรสในเมื่ออายุ 17ปีบริบูรณ์โดยได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม (บิดามารดา)

ข้อยกเว้นในการทำที่ผู้เยาว์สามารถทำนิติกรรมได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมคือ
1. เป็นนิติกรรมที่ผู้เยาว์นั้นมีประโยชน์ฝ่ายเดียวเท่านั้น เช่น การที่ผู้เยาว์รับการให้โดยเสน่หา
2. นิติกรรมที่ต้องทำเองเฉพาะตัวเป็นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องตัดสินใจเองโดยแท้จริงเช่นการรับรองบุตรเป็นต้น
3. นิติกรรมที่จำเป็นต่อการเลี้ยงชีพ โดยจะต้องเป็นการเลี้ยงชีพอย่างแท้จริง และ สมแก่ฐานะของผู้เยาว์
4.ในกรณีที่ทำพินัยกรรม จะต้องมีอายุครบ 15ปี บริบูรณ์ และหากพินัยกรรมนั้น ทำลงขณะที่อายุไม่ครบ15 ปีบริบูรณ์ แต่ทำพินัยกรรมย่อมส่งผลให้พินัยกรรมนั้นมีผลให้พินัยกรรมนั้นเป็นโมฆะ

3.2. บุคคลวิกลจริต
คือ บุคคลที่มีจิตใจผิดปกติ หากขณะที่ทำนิติกรรมใด ๆ คนวิกลจริตนั้นมีสภาพจิตใจสมบูรณ์ นิติกรรมนั้นย่อมสมบูรณ์ แต่หากว่าได้กระทำนิติกรรมในขณะจริตวิกลและคู่สัญญาทราบว่าบุคคลนั้นเป็นคนวิกลจริต นิติกรรมนั้นมีผลเป็นโมฆียะ อย่างไรก็ตาม หากคู่สัญญาที่ร่วมทำนิติกรรม ไม่ทราบว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลที่ร่วมทำเป็นบุคคลวิกลจริต ตามกฎหมายจะถือว่านิติกรรมนั้น สมบูรณ์

3.3.คนไร้ความสามารถ
คนวิกลจริตที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถเรียกว่า คนไร้ความสามารถ ซึ่งหากทำนิติกรรมจะมีผลเป็น โมฆียะ ดังนั้นผู้อนุบาลต้องทำแทนเท่านั้น

3.4. คนเสมือนไร้ความสามารถ
คนเสมือนไร้ความสามารถ คือ บุคคลมีกายพิการ หรือ ติดสุรายาเมา หรือ เสเพลเป็นอาจิณ และศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
คนเสมือนไร้ความสามารถก็เป็นคนปกติทั่วไปนั่นแหละ แต่ไม่สามารถจัดการงานของตนได้หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเอง หรือครอบครัว และเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือคนในครอบครัวของคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือบุคคลภายนอก กฎหมายจึงกำหนดให้ มีการร้องขอต่อศาลให้บุคคลที่มีลักษณะดังกล่าวเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้
หากทำคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำนิติกรรม ๆ นั้นย่อมสมบูรณ์ เว้นแต่การทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินที่สำคัญ ต้องขอความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิเช่นนั้นจะถือว่าผลเป็นโมฆียะ


-------------------------------------------------------------------------------------
2.นิติบุคคล
-------------------------------------------------------------------------------------

คือ บุคคลที่กฎหมายสมมติขึ้น เพื่อให้มีสิทธิและหน้าที่เปรียบเสมือนบุคคลหนึ่ง โดยจะมีการกระทำนิติกรรมผ่านผู้แทน โดยมีสิทธิเทียบเท่ากับบุคคลธรรมดาทั่วไปจะต้องจดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ก่อน หรือเมื่อมีพระราชบัญญัติให้สามารถจัดตั้งนิติบุคคลนั้นมีผลใช้บังคับได้

นิติบุคคลไม่มีชีวิตจิตวิญญาณ ไม่อาจแสดงเจตนาได้ อย่างไรก็ตามนิติบุคคลสามารถแสดงเจตนาโดยผ่านทาง “ผู้แทนนิติบุคคล นั้น” (ระวังสับสนกับคำว่าตัวแทน)

สามารถแบ่งนิติบุคคลออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. นิติบุคคลตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เช่น สมาคม มูลนิธิ ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัดเป็นต้น

2. นิติบุคคลตามกฎหมายอื่น
เช่น กระทรวง ทบวง กรม กองทัพ วัดวาอาราม มหาวิทยาลัย (แต่คณะในมหาวิทยาลัยมิใช่นิติบุคคล)

ข้อสังเกต ส่วนราชการสามารถแบ่งออกได้สามส่วน คือ
1.การบริหารราชการส่วนกลาง เช่น กระทรวง, ทบวง, กรม
2.การบริหารราชการส่วนภูมิภาค เช่น จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน
3.การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นมีหลายรูปแบบ เช่น เทศบาล (สำหรับเทศบาลก็มีทั้งเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล) องค์การบริหารส่วนจังหวัดและส่วนตำบล กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา

ความรู้เบื้องเกี่ยวกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

กฎหมายแพ่งและกฎหมายพาณิชย์ของประเทศไทย ได้บัญญัติรวมเป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน เรียกชื่อว่า "ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" ถามว่า กฎหมายใดที่มีลักษณะเป็นกฎหมายพาณิชย์

ก. กฎหมายลักษณะครอบครัว
ข. กฎหมายลักษณะทรัพย์
ค. กฎหมายลักษณะบุคคล
ง. กฎหมายลักษณะตั๋วเงิน

คำถามข้อนี้เคยมักจะถูกนำมาออกเป็นข้อสอบเป็นประจำ เนื่องจาก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นกฎหมายพื้นฐานที่มีความใกล้ชิดกับการดำรงชีวิตประจำวันมากที่สุด

กฎหมายแพ่งคืออะไร

ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายลักษณะบุคคล มีการกำหนดว่า การมีสภาพบุคคลของบุคคลธรรมดานั้นเริ่มคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และเมื่อมีสภาพบุคคลแล้วบุคคลนั้นย่อมมีสิทธิตามกฎหมาย แต่กฎหมายจำกัดการใช้สิทธิไม่ให้บุคคลนั้นใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่หากว่า บุคคลนั้นยังเป็นผู้เยาว์อยู่ กฎหมายลักษณะนี้เราเรียกว่ากฎหมายแพ่ง

ดังนั้น กฎหมายแพ่ง จึงหมายถึง กฎหมายว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบุคคล ในการดำรงชีวิตประจำวันในลักษณะทั่วไป

กฎหมายแพ่งที่สำคัญคือ กฎหมายลักษณะบุคคล กฎหมายลักษณะทรัพย์ (โดยมีการกำหนดสิทธิของผู้ทรงทรัพยสิทธิ ในรูปแบบต่างๆ เช่น เจ้ากรรมสิทธิ์ว่ามีสิทธิอย่างไรบ้าง  สิทธิในการใช้สอย ติดตามเอาคืน เป็นต้น) กฎหมายลักษณะครอบครัว กฎหมายลักษณะมรดก กฎหมายลักษณะละเมิด จัดการงานนอกสั่ง และลาภมิควรได้ ก็จัดว่าเป็นกฎหมายแพ่งเช่นกัน

ส่วนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นหมายถึง กฎหมายว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบุคคล ในการดำรงชีวิตประจำวันในลักษณะทั่วไปอันเกี่ยวกับการพาณิชย์ ถ้าหากพิจารณาภาษาอังกฤษ จะทำให้เราเข้าใจมากขึ้น การพาณิชย์ก็คือ Commerce นั่นเอง หมายความถึง ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องในทางเศรษฐกิจ การค้าขายสินค้า การค้าบริการ และ การลงทุน ดังนั้น กฎหมายเอกเทศสัญญาส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นกฎหมายพาณิชย์ เช่น กฎหมายลักษณะตั๋วเงิน (ตั๋วเงินคือการชำระหนี้อย่างอื่นแทนเงิน เช่น ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน เช็ค) กฎหมายลักษณะซื้อขาย กฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ กฎหมายลักษณะเช่าซื้อ กฎหมายลักษณะจำนอง กฎหมายลักษณะจำนำ กฎหมายลักษณะค้ำประกัน กฎหมายลักษณะห้างหุ้นส่วน บริษัท

ในปัจจุบันกฎหมายแพ่งและกฎหมายพาณิชย์ของประเทศไทย ได้บัญญัติรวมเป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน เรียกชื่อว่า "ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" แบ่ง ออกเป็น 6 บรรพ คือ บรรพ 1 ว่าด้วยหลักทั่วไป บรรพ 2 ว่าด้วยหนี้ บรรพ 3 ว่าด้วยเอกเทศสัญญา บรรพ 4 ว่าด้วยทรัพย์สิน บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว และบรรพ 6 ว่าด้วยมรดก

เหตุที่ประเทศไทยมีการจัดทำประมวลกฎหมายโดยการนำ เอากฎหมายแพ่งมารวมกับกฎหมายพาณิชย์เป็นฉบับเดียวคล้ายกับประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยไม่ได้แยกเป็นประมวลกฎหมายแพ่งเล่มหนึ่งและประมวลกฎหมายพาณิชย์อีกเล่ม หนึ่งดังเช่นประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เพราะการค้าพาณิชย์ในขณะที่ร่างกฎหมายยังไม่เจริญก้าวหน้า อีกทั้ง หลักทั่วไปบางอย่างในกฎหมายแพ่งก็สามารถนำไปใช้กับกฎหมายพาณิชย์ได้ ความจำเป็นที่จะต้องแยกกฎหมายพาณิชย์ออกจากกฎหมายแพ่งโดยจัดทำเป็นประมวล กฎหมายคนละเล่มกันจึงยังไม่มีความจำเป็นเท่าใดนักในขณะนั้น
อธิบายมาเสียยืดยาว สรุปคำตอบคือ ข้อ ง. กฎหมายลักษณะตั๋วเงิน นั่นเองที่มีลักษณะเป็นกฎหมายพาณิชย์

วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ติวกฎหมายฟรี แบบ Exclusive

ผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

ผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด มีดังนี้

ผู้ลงมือ คือผู้ที่ได้กระทำความผิดโดยตรง
ตัวการ คือสมคบกันกระทำความผิดโดยมีการกระทำร่วมกัน มีเจตนาร่วมกัน
ผู้ใช้ คือ ผู้ที่ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดโดยผู้กระทำความผิดไม่มีเจตนาจะกระทำความผิดนั้น ๆ มาก่อน
ผู้สนับสนุน คือ ผู้ที่ช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งได้ตกลงใจกระทำความผิดนั้นอยู่แล้ว

------------------------------------------------------------------------------------
อธิบายดังนี้

1.ผู้ลงมือ คือผู้ที่ได้กระทำความผิดโดยตรง

2.ตัวการ คือกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น กล่าวคือรับโทษเท่าผู้ลงมือนั่นเอง

เช่น นาย ก ให้นาย ข ดูต้นทางให้ ส่วน นาย ก เข้าไปลักทรัพย์ในบ้านของ นาย ค เช่นนี้ นาย ก คือผู้ลงมือ และนาย ข คือตัวการ

3.ผู้ใช้ คือผู้ที่ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้บังคับ ขู่เข็ญจ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้ กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ เช่น นาย ก จ้าง นาย ข ไปฆ่า นาย ค หากนาย ค ไม่ตาย นาย ข ซึ่งเป็นผู้ลงมือ รับผิดฐานพยายามฆ่า ส่วนนาย ก ผู้ใช้รับผิดฐานพยายามฆ่าเท่ากับ นาย ข เช่นกัน

ถ้าความผิดมิได้กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด (เช่นนาย ก จ้าง นาย ข ไปฆ่า นาย ค แต่นาย ข กลับสงสารนาย ค จึงไม่ลงมือฆ่า) ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียง1 ใน 2 ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

4.ผู้สนับสนุนคือผู้ที่กระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด ก่อนหรือขณะกระทำ ความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความ สะดวกนั้นก็ตาม

ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้อง ระวางโทษ 2 ใน 3 ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่ สนับสนุนนั้น

วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551

พยายามกระทำความผิด

ในหัวข้อ พยายามกระทำความผิด นั้น ผมขอแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อดังนี้ครับ

1. การพยายามกระทำความผิดกรณีปกติ

1.1.บุคคลใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด เช่น ก. ยกปืนเล็งไปที่ ข. จะยิง ข. แต่ ค. ปัดกระบอกปืนไปทางอื่น หรือ
1.2.กระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เช่น ก. ยิงไปที่ ข. (กระทำไปตลอดแล้ว) แต่ ข.หลบทัน (ไม่บรรลุผล)

บุคคลนั้นได้พยายามกระทำความผิดแล้ว

เช่นนี้เป็นการลงมือกระทำแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด เป็นพยายามฆ่า เป็นต้น หรือ

เช่นนี้เป็นการกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเป็นพยายามฆ่าเช่นกัน ซึ่งต้องรับโทษ2 ใน 3ของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

-------------------------------------------------------------------------------------

2. การพยายามกระทำความผิดที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้

บุคคลใดกระทำการโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แต่การกระทำนั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการ กระทำหรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ

เช่น ปืนที่ใช้มีกำลังอ่อน หรือระเบิดที่ใช้กำลังอ่อนมากทำให้เกิดบาดแผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เป็นต้น

ให้ถือว่า ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด แต่ให้ลงโทษไม่เกิน1 ใน 2 ของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

แต่ถ้าเป็นการกระทำดังกล่าวเกิดจากความเชื่ออย่าง งมงาย ศาลจะไม่ลงโทษก็ได้

เช่น ก.ใช้ปืนที่กำลังอ่อนยิง ข. ด้วยความเชื่อว่า ข.หนังเหนียวยิงไม่เข้าเมื่อปรากฏว่า ข.ได้รับบาดเจ็บเพียงเป็นรอยช้ำเล็กน้อย เท่านั้น ศาลก็อาจไม่ลงโทษ ก. ก็ได้ เป็นต้น

-----------------------------------------------------------------------------------
3. การยับยั้ง กลับใจ

3.1.กรณียับยั้ง

คือกรณีที่บุคคลได้ลงมือกระทำความผิด แต่ได้ยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด

เช่นนาย ก.ยกปืนจ้องจะยิงนาย ข.แต่เกิดนึกสงสารบุตรของนาย ข.เลยเปลี่ยน ใจไม่ฆ่านาย ข.

3.2.กรณีกลับใจ

คือกรณีที่บุคคลได้ลงมือกระทำความผิด แต่ได้กลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล เช่นนาย ก.ใช้มีดแทงนาย ข.โดยตั้งใจจะฆ่านาย ข.ให้ตาย แต่นาย ก. นึกสงสารบุตรของนาย ข.จึงกลับใจอุ้มนาย ข.ไปส่งที่โรงพยาบาล เป็นต้น
ผลของการยับยั้งหรือกลับใจ

เมื่อพิจารณาตามกฎหมายแล้ว กรณีที่นาย ก.ยกปืนจ้องจะยิงนาย ข เช่นนี้การกระทำอยู่ในขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว เมื่อ แม้ว่านาย ก. ไม่ได้ลั่นไกปืน(คือไม่ได้กระทำการไปให้ตลอด) นาย ก. ก็ยังคงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น แต่ในเรื่องยับยั้งการกระทำผิดนั้น กฎหมายได้วางหลักว่าชัดเจนว่า หากการที่นาย ก. ไม่ได้ลั่นไกปืน เกิดจากการยับยั้งของนาย ก. เอง แล้ว ดังเช่นกรณีที่ยกตัวอย่างไว้ข้างต้นว่านาย ก.ยกปืนจ้องจะยิงนาย ข.แต่เกิดนึกสงสารบุตรของนาย ข.เลยเปลี่ยน ใจไม่ฆ่านาย ข. นาย ก. ย่อมไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น(พยายามฆ่า)

อีกทั้งในกรณีที่นาย ก.ใช้มีดแทงนาย ข.โดยตั้งใจจะฆ่านาย ข.ให้ตาย หากนาย ข. ไม่ตาย นาย ก. ต้องรับผิดฐาน พยายามฆ่าผู้อื่น แต่หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่นาย ข.ไม่ตายนั้นเกิดจากที่ นาย ก. นึกสงสารบุตรของนาย ข.จึงกลับใจอุ้มนาย ข.ไปส่งที่โรงพยาบาล เช่นนี้แล้ว นาย ก. ย่อมไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น(พยายามฆ่า)

อย่างไรก็ตาม แต่ถ้าการที่ได้กระทำไปแล้วต้องตามบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดไว้ ผู้นั้นต้อง โทษสำหรับความผิดนั้นๆด้วย ดังนั้น การกลับใจอุ้ม ข.ไปส่งโรงพยาบาลนั้นย่อมทำให้ ก.ไม่ต้องรับผิดฐานพยายามฆ่า แต่อาจต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายได้

วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551

สำคัญผิด

สำคัญผิดในทางกฎหมายอาญาแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ดังนี้

-------------------------------------------------------------------------------------

1.สำคัญผิดในตัวบุคคล

เช่น นายเอกตั้งใจไปดักยิงนายฝันดีที่พุ่มไม้ แต่ปรากฏว่านายฝันเด่นเดินมา นายเอกเข้าใจว่าเป็นนายฝันดี จึงยิงไปที่นายฝันเด่น เช่นนี้นายเอกต้องรับผิดต่อนายฝันเด่นหรือไม่

“ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่งแต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่”

แม้นายเอกเจตนาจะกระทำต่อนายฝันดี แต่ได้กระทำต่อนายฝันเด่นโดยสำคัญผิด นายเอกจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาต่อนายฝันเด่นหาได้ไม่ดังนั้น นายเอกต้องรับผิดต่อนายฝันเด่น

-------------------------------------------------------------------------------------

2.สำคัญผิดในข้อเท็จจริง แบ่งออกเป็น 3 กรณี

2.1.สำคัญผิดว่าเป็นข้อเท็จจริงซึ่งทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด อธิบายได้ดังนี้

การกระทำไม่เป็นความผิด คืออะไร ต้องพิจารณาที่โครงสร้างที่ 2 ที่กล่าวถึงกฎหมายยกเว้นความผิดไว้หลายกรณี ส่วนข้อเท็จจริงซึ่งทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด ก็คือข้อเท็จจริงซึ่งทำให้กฎหมายยกเว้นความผิด

เช่นข้อเท็จที่ว่านายเอกจะใช้มีดฟันนายโท การทำร้ายร่างกายเช่นนี้เป็นภยันตรายอันเกิดจากการกระทำผิดกฎหมาย การที่นายโทใช้มีดฟันไปยังนายเอกก่อนที่นายเอกจะฟันนายโท จึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

แต่หากว่านายเอกเห็นว่ามีงูเลื้อยเข้ามาด้านหลังนายโท นายเอกจึงรีบคว้ามีดเพื่อฟันไปที่งู แต่นายโทสำคัญผิดคิดว่า นายเอกจะทำร้ายร่างกายตน เช่นนี้เป็นกรณีที่เกิดสำคัญผิดในข้อเท็จจริง(นายโทคิดว่านายเอกจะทำร้ายตน แต่แท้จริงแล้วนายเอกจะฟันงู

ถามว่า นายโทมีความผิดหรือไม่

เมื่อนายโทผู้กระทำสำคัญผิดคิดว่าสามารถใช้สิทธิป้องกันได้ เช่นนี้นายโทผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด


2.2.สำคัญผิดว่ามีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ

การกระทำที่กฎหมายยกเว้นโทษ คืออะไร ต้องพิจารณาที่โครงสร้างที่ 3 ที่กล่าวถึงกฎหมายยกเว้นโทษไว้หลายกรณี ส่วนข้อเท็จจริงซึ่งทำให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ก็คือข้อเท็จจริงซึ่งทำให้กฎหมายยกเว้นโทษ

เช่นข้อเท็จที่ว่า แดงเข้าไปเดินป่าที่เขาใหญ่เพื่อไปศึกษาธรรมชาติ ระหว่างที่เดินชมธรรมชาติอยู่นั้น ช้างป่าตกมันวิ่งมาที่นายแดง นายแดงตกใจมากจึงวิ่งหนีช้างป่าตกมันนั้น นายแดงวิ่งไปยังบ้านหลังหนึ่งเพื่อเข้าไปหลบที่บ้านหลังนั้น แต่บ้านหลังนั้นกลับปิดประตูอย่างแน่นหนา ทำให้นายแดงเข้าไปไม่ได้ นายแดงจึงทำลายประตูนั้น เพื่อเข้าไปในบ้านเพื่อหลบช้างป่า

เช่นนี้ แม้นายแดงจะกระทำผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่นายแดงสามารถอ้างว่า การที่นายแดงทำลงไปเป็นการกระทำความผิดโดยจำเป็น ซึ่งเป็นเหตุยกเว้นโทษ

แต่หากว่านายแดงหูแว่ว ได้ยินเสียงช้าง นายแดงตกใจรีบพังประตู เข้าไปในบ้านของผู้อื่น เช่นนี้เกิดจากการสำคัญผิดในข้อเท็จจริง(นายแดงคิดว่าช้างป่าจะวิ่งเข้ามาทำร้ายตน แต่แท้จริงแล้วนายแดงเพียงหูแว่วเท่านั้น)

ถามว่า นายแดงต้องรับโทษหรือไม่

เมื่อนายแดงผู้กระทำสำคัญผิดคิดว่าสามารถกระทำความผิดด้วยความจำเป็นได้ เช่นนี้นายแดงผู้กระทำย่อมไม่ต้องรับโทษ


2.3สำคัญผิดว่ามีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้ผู้กระทำได้รับโทษน้อยลง

การกระทำที่กฎหมายลดโทษนั้นมีหลายกรณีเช่น การกระทำความผิดเพราะบันดาลโทสะ ฯลฯ ส่วนข้อเท็จจริงซึ่งทำให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ก็คือข้อเท็จจริงซึ่งทำให้กฎหมายลดโทษ

เช่นข้อเท็จที่ว่า นายเอกใช้ปืนยิงนายเพชรซึ่งเป็นบิดาของนายโท นายเพชรอาการสาหัส ใช้ลมหายใจเฮือกสุดท้าย กระเสือกกระสนไปหานายโท นายโทเห็นพ่อตนถูกทำร้าย จึงรีบถามว่าใครทำ ปรากฏว่านายเพชรบอกว่านายเอกเป็นผู้กระทำ พอรู้เช่นนั้น นายโทรีบไปหานายเอกเพื่อชำระความแค้น ยิงนายเอกเพื่อแก้แค้นแทนพ่อตน การกระทำของนายโทเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา แต่นายโทอาจกล่าวอ้างว่าได้กระทำความผิดเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ซึ่งศาลอาจจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

แต่หากว่านายเพชรซึ่งอาการปางตาย พูดจาไม่ชัดถ้อยชัดคำ ทำให้นายโทเข้าใจว่านายเป็ด เป็นผู้กระทำ นายโทเข้าใจว่านายเป็ดฆ่าพ่อตน นายโทจึงไปยิงนายเป็ด เช่นนี้เกิดจากการสำคัญผิดในข้อเท็จจริง(นายโทคิดว่านายเป็ดทำร้ายพ่อตน แต่แท้จริงแล้วนายเพชรเป็นผู้ทำร้ายพ่อของนายโท)

ถามว่า นายโทอ้างเหตุลดโทษหรือไม่

เมื่อนายแดงผู้กระทำสำคัญผิดคิดว่าตนสามารถอ้างเหตุลดโทษได้ เช่นนี้ศาลอาจจะลงโทษนายโทน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เหตุลดโทษตามกฎหมายอาญา

ผมได้ใช้เวลาในการอธิบายเรื่องโครงสร้างความรับผิดอยู่หลายตอน

เพราะในกฎหมายอาญานั้นมีหัวใจอยู่ตรงที่ "ความรับผิดทางอาญาของบุคคล"

ดังนั้น ในการพิจารณาว่าบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาหรือไม่นั้น ประการแรกต้องดูว่าการกระทำของบุคคลนั้นครบ “องค์ประกอบ” ที่กฎหมายบัญญัติหรือไม่หากครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ แล้วก็ต้องดูต่อไปว่าการกระทำมีกฎหมายยกเว้นความผิดหรือไม่หากไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด ก็ต้องดูต่อไปว่ามีกฎหมายยกเว้นโทษหรือไม่ เมื่อไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษก็มีหมายความว่าบุคคลนั้นจะต้องรับผิดในทางอาญา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบุคคลใดต้องรับโทษทางกฎหมายอาญาแล้ว “ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

เรียกกรณีดังกล่าวว่า เป็นกรณีที่มีเหตุลดโทษ โดยศาลอาจใช้ดุลพินิจลดโทษให้ เช่น กระทำความผิดเพราะบันดาลโทสะ อย่างไรก็ตาม

ถึงกระนั้นก็ตาม ... เหตุลดโทษนั้นไม่ใช่โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา

-------------------------------------------------------------------------------------
อธิบายเรื่องเหตุลดโทษโดยละเอียด

เหตุลดโทษ คือ เหตุที่อาจทำให้ผู้กระทำได้รับโทษน้อยลง ซึ่งขึ้นอยู่กับ ดุลพินิจของศาลที่จะลดโทษให้แก่ผู้กระทำหรือไม่ก็ได้ กฎหมายมักจะบัญญัติเกี่ยวกับการลดโทษไว้ในทำนองว่า “ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้” หรือบางกรณีก็จำกัดขอบเขตการลดโทษของศาลไว้เช่น “ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้”

ในกรณีเหตุลดโทษ นั้นได้จัดอยู่นอกโครงสร้าง เพราะจะคำนึงถึงเหตุลดโทษก็ต่อเมื่อผู้กระทำต้องรับผิดในทางอาญาแล้ว กล่าวคือไม่มีเหตุยกเว้นความผิด หรือไม่มีเหตุยกเว้นโทษแก่ผู้กระทำ ซึ่งขั้นตอนต่อไปที่จะต้องพิจารณาคือดูว่ามีเหตุลดโทษหรือไม่

-------------------------------------------------------------------------------------
เหตุลดโทษ ที่บัญญัติไว้มีหลายกรณี แต่มีเรื่องที่สำคัญดังนี้
-------------------------------------------------------------------------------------

1. การกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินบางความผิดระหว่างญาติสนิท

เช่น บุตรลักสายสร้อยมารดาจะเอาไปขาย เช่นนี้เป็นความผิดตามกฎหมาย ไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษให้ แต่เป็นเหตุลดโทษตามกฎหมาย กล่าวคือสามีมีความผิดฐานลักทรัพย์และต้องรับโทษ แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

-------------------------------------------------------------------------------------

2. บันดาลโทสะ
กฎหมายวางหลักว่า “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

เช่น นายเอกใช้ปืนยิงนายเพชรซึ่งเป็นบิดาของนายโท นายเพชรอาการสาหัส ใช้ลมหายใจเฮือกสุดท้าย กระเสือกกระสนไปหานายโท นายโทเห็นพ่อตนถูกทำร้าย จึงรีบถามว่าใครทำ ปรากฏว่านายเพชรบอกว่านายเอกเป็นผู้กระทำ พอรู้เช่นนั้น นายโทรีบไปหานายเอกเพื่อชำระความแค้น ยิงนายเอกเพื่อแก้แค้นแทนพ่อตน การกระทำของนายโทเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา แต่นายโทอาจกล่าวอ้างว่าได้กระทำความผิดเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ซึ่งศาลอาจจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้


.

วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2551

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างที่สาม

ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหา ... โครงสร้างความรับผิดทางอาญา โครงสร้างที่สาม

ผมขอย้ำให้ผู้อ่านเข้าใจหลักการให้ชัดอีกครั้งว่า

บุคคลต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่ ต้องพิจารณาจากโครงสร้างความรับผิดทางอาญา

ดังนั้น ในการพิจารณาว่าบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาหรือไม่นั้น

ประการแรกต้องดูว่าการกระทำของบุคคลนั้นครบ “องค์ประกอบ” ที่กฎหมายบัญญัติหรือไม่

หากครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ แล้วก็ต้องดูต่อไปว่าการกระทำมีกฎหมายยกเว้นความผิดหรือไม่

หากไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด ก็ต้องดูต่อไปว่ามีกฎหมายยกเว้นโทษหรือไม่

เมื่อไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษก็มีหมายความว่าบุคคลนั้นจะต้องรับผิดในทางอาญา

.
.
.

ต่อไปจะอธิบายเบื้องลึกของโครงสร้างความรับผิดทางอาญาโครงสร้างที่สาม ที่ว่าด้วย ... การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ

------------------------------------------------------------------------------------
กฎหมายที่ยกเว้นโทษให้แก่การกระทำต่าง ๆ ที่เป็นความผิดมีหลายกรณีด้วยกันเช่น
------------------------------------------------------------------------------------

1.การกระทำความผิดโดยจำเป็น

กฎหมายวางหลักว่า “ผู้ใดกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง และไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”

อธิบายเรื่องการกระทำความผิดโดยจำเป็น

การกระทำความผิดโดยจำเป็น เป็นการกระทำที่เป็นความผิด แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้

(ซึ่งแตกต่างจากการกระทำโดยป้องกันเพราะว่าการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายยกเว้นความผิดให้ การกระทำนั้นจึงไม่เป็นความผิด และไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย)

การกระทำความผิดโดยจำเป็นแบ่งออกเป็น 2 กรณี

กรณีแรก

กระทำความผิดด้วยความจำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ เช่น แดงขู่ว่าจะยิงดำ ถ้าดำไม่ตีหัวขาว ดำเงื้อไม้จะตีหัวขาว ถ้าดำตีขาวหัวแตก ดำจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย แต่สามารถอ้างว่า การที่นายดำทำลงไปเป็นการกระทำความผิดโดยจำเป็น ซึ่งเป็นเหตุยกเว้นโทษ

กรณีที่สอง

กระทำความผิดด้วยความจำเป็นเพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง และไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน เช่น แดงเข้าไปเดินป่าที่เขาใหญ่เพื่อไปศึกษาธรรมชาติ ระหว่างที่เดินชมธรรมชาติอยู่นั้น ช้างป่าตกมันวิ่งมาที่นายแดง นายแดงตกใจมากจึงวิ่งหนีช้างป่าตกมันนั้น นายแดงวิ่งไปยังบ้านหลังหนึ่งเพื่อเข้าไปหลบที่บ้านหลังนั้น แต่บ้านหลังนั้นกลับปิดประตูอย่างแน่นหนา ทำให้นายแดงเข้าไปไม่ได้ นายแดงจึงทำลายประตูนั้น เพื่อเข้าไปในบ้านเพื่อหลบช้างป่า เช่นนี้ แม้นายแดงจะกระทำผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่นายแดงสามารถอ้างว่า การที่นายแดงทำลงไปเป็นการกระทำความผิดโดยจำเป็น ซึ่งเป็นเหตุยกเว้นโทษ

------------------------------------------------------------------------------------

2. การกระทำความผิดของเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี

------------------------------------------------------------------------------------

3. การกระทำความผิดของเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี และไม่เกิน14 ปี

เช่น แดงเด็กอายุ 13 ปี ชักปืนจะยิงดำ หากแดงยิงดำตาย แดงผิดมาตรา 288 แต่อ้างมาตรา 74 ยกเว้นโทษ ซึ่งหมายความว่าเป็นการกระทำที่เป็นความผิด แต่กฎหมายยกเว้นโทษ

------------------------------------------------------------------------------------

4. การกระทำความผิดของคนวิกลจริต

------------------------------------------------------------------------------------

5. การกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ในบางความผิด(เช่นลักทรัพย์) ระหว่างสามีภริยา

เช่น สามีลักสายสร้อยภริยาจะเอาไปขาย เช่นนี้กฎหมายยกเว้นโทษให้ กล่าวคือสามีมีความผิดฐานลักทรัพย์แต่ไม่ต้องรับโทษ
อย่างไรก็ตาม หากภริยาติดตามไปเอาคืน สามีไม่ยอม ภริยาใช้ไม้ตีทำร้ายสามีและได้สร้อยคืนมา การกระทำของสามีเป็นความผิด จึงเป็นภยันตรายต่อทรัพย์สินของภริยาอันเกิดจากการละเมิดกฎหมาย ด้วยเหตุนี้การกระทำของภริยาด้วยการใช้ไม้ตีสามี เพื่อให้ได้ทรัพย์สินคืนมา จึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย


.

วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างที่สอง

ผมได้อธิบาย “โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา” โครงสร้างแรก ที่ว่าด้วย การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ ไปแล้ว ซึ่งประกอบด้วย 4 องค์ประกอบดังนี้
1.มีการกระทำ
2.การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายนอก
3.การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายใน
4.มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

ต่อไปผมจะอธิบายโครงสร้างความรับผิดทางอาญาโครงสร้างที่สอง ซึ่งเป็นเรื่องของ การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด ซึ่งมีความสำคัญในการพิจารณาความรับผิดของบุคคลในทางอาญาเป็นอย่างมาก กล่าวคือ

แม้ว่า การกระทำจะครบ “องค์ประกอบ” ที่กฎหมายบัญญัติ ตามโครงสร้างข้อ 1 แต่หากว่ามีกฎหมายยกเว้นความผิดตามโครงสร้างข้อ2 ผู้กระทำก็ไม่ต้องรับผิดในทางอาญา เช่น ในกรณีแดงยิงดำที่ยกมาข้างต้น หากปรากฏว่าการที่แดงกระทำต่อดำนั้นเป็นการกระทำโดยป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของแดงก็ไม่เป็นความผิด เพราะมีกฎหมายในเรื่องป้องกันตามยกเว้นความผิดซึ่งก็หมายความว่าแดงไม่ต้องรับผิดในทางอาญา

แล้วกฎหมายยกเว้นความผิดในกรณีใดบ้าง !?

กฎหมายยกเว้นความผิดหลายกรณี ดังนี้
------------------------------------------------------------------------------------

1. กฎหมายยกเว้นความผิดในประมวลกฎหมายอาญา เช่น

1) การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
กฎหมายวางหลักว่า “ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

เช่น นายเอกจะถูกนายโทยิง นายเอกจึงใช้มีดฟันไปยังแขนนายโท เช่นนี้ แม้ว่านายเอกจะกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จึงเป็นกรณีที่นายเอกจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย(คือการจะถูกยิง) การกระทำของนายเอกเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงได้รับยกเว้นความผิด สรุปแล้ว นายเอกจึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร้างกาย

ทั้งนี้ ผู้กระทำอาจป้องกันสิทธิของผู้อื่น เช่น แดงก่อเหตุด้วยการจะยิงดำ ดำกลัวตายจึงใช้ปืนยิงแดง ขาวพ่อของดำเห็นเหตุการณ์โดยตลอด ขาวช่วยแดงด้วยการยิงดำ ขาวอ้างป้องกันได้ เพราะการที่แดงยิงดำ แม้จะเป็นภยันตรายต่อดำ เกิดจากการละเมิดกฎหมาย

2) การทำแท้งที่กฎหมายยกเว้นความผิด

หลักกฎหมายเรื่องการกระทำความผิดฐานทำแท้ง วางหลักไว้ชัดเจนว่า “ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษ…”

อย่างไรก็ตามกฎหมายก็ได้วางข้อยกเว้นความผิดไว้ในกรณีที่เป็นการกระทำนั้นเป็นการกระทำของของนายแพทย์และ (1) จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาเช่น หญิงนั้นถูกข่มขืนกระทำชำเรา

3)การหมิ่นประมาทที่กฎหมายยกเว้นความผิด

หลักกฎหมายเรื่องการกระทำความผิดฐานทำแท้ง วางหลักไว้ชัดเจนว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ…”

อย่างไรก็ตามกฎหมายก็ได้วางข้อยกเว้นความผิดไว้ในกรณีที่การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต หรือการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลโดยคู่ความหรือทนายความของคู่ความ

------------------------------------------------------------------------------------

2. กฎหมายยกเว้นความผิดที่มิได้มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

หลักในเรื่องความยินยอม ซึ่งยกเว้นความผิดในบางกรณี หลักดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงดังเช่นเรื่องป้องกันแต่ก็นำมาใช้ได้โดยถือเป็นหลักกฎหมายทั่วไป

จารีตประเพณี ก็ถือได้ว่าเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่ยกเว้นความผิดได้ เช่น จารีตประเพณีให้อำนาจครูตีเด็กนักเรียนพอสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน หรือพระภิกษุมีอำนาจลงโทษศิษย์วัดได้

------------------------------------------------------------------------------------

3. กฎหมายยกเว้นความผิดในรัฐธรรมนูญ

ผู้มีสิทธิ์ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเรื่องเอกสิทธิ์ “ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้”

------------------------------------------------------------------------------------

4. กฎหมายยกเว้นความผิดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(1)เจ้าของที่ดินใช้สิทธิตัดรากไม้ซึ่งรุกเข้ามาจากที่ดินที่ติดต่อและเอาไว้เสีย ไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
(2) การทำบุบสลายหรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งใด เพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายซึ่งมีมาเป็นสาธารณะโดยฉุกเฉิน เช่น เข้าไปขุดดินทำทางน้ำในที่ดินของผู้อื่นเพื่อป้องกันภยันตรายสาธารณะอันแลเห็นอยู่ว่าจะเกิดขึ้นนั้น ไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ และไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกด้วย แม้จะเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข ก็ตาม เพราะถือว่าผู้กระทำมีอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้นได้
(3) การที่ผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ฆ่าสัตว์ที่เข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์ ไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
(4) การที่ผู้ใช้อำนาจปกครอง เช่น บิดามารดาทำโทษบุตรตามสมควร เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
(5) บางกรณีอำนาจตามสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งก็ทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด ทางอาญาฐานบุกรุก เช่น ข้อตกลงในสัญญาเช่นระบุว่า หากผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า ผู้เช่ายอมผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าและเอาโซ่ล่ามใส่กัญแจปิดทางเข้าออกตึกที่ให้เช่าเป็นการทำสัญญา ผู้ให้เช่าไม่ผิดเพราะมีอำนาจจะกระทำได้ตามข้อตกลงในสัญญาเช่าต่างหาก

------------------------------------------------------------------------------------

5. กฎหมายยกเว้นความผิดในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
การที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับบุคคลผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้กระทำความผิดมาแล้วและจะหลบหนีไปตาม หรือการจับกุมบุคคลตามหมายจับที่ออกไปโดยชอบด้วยกฎหมายผู้จับไม่มีความผิดต่อเสรีภาพ หรือหากการจับนั้นจำเป็นต้องทำให้ทรัพย์ของผู้ถูกจับเสียหาย เช่นจำต้องยิงยางที่ล้อรถจนยางแตกเพื่อให้รถหยุดจะจับกุมคนซึ่งเป็นการกระทำที่เหมาะแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับ ผู้จับไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

------------------------------------------------------------------------------------

ข้อสังเกต
การกระทำที่ครบ “องค์ประกอบ” ที่กฎหมายบัญญัติ ตามโครงสร้างข้อ 1 หากมีกฎหมายยกเว้นความผิดตามโครงสร้างข้อ2 ผู้กระทำก็ไม่ต้องรับผิดในทางอาญา เช่น ในกรณีแดงยิงดำที่ยกมาข้างต้น หากปรากฏว่าการที่แดงกระทำต่อดำนั้นเป็นการกระทำโดยป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของแดงก็ไม่เป็นความผิด เพราะมีกฎหมายในเรื่องป้องกันตาม ยกเว้นความผิดซึ่งก็หมายความว่าแดงไม่ต้องรับผิดในทางอาญา

แม้การกระทำที่ครบ “องค์ประกอบ” ที่กฎหมายบัญญัติตามโครงสร้างข้อ 1 จะไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิดตามโครงสร้างข้อ2 ก็ยังไม่อาจสรุปได้ทันทีว่าผู้กระทำต้องรับผิดในทางอาญาจะต้องพิจารณาโครงสร้างข้อ3 ต่อไปด้วยว่า การกระทำนั้นมีกฎหมายยกเว้นโทษหรือไม่

.

วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2551

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างแรก (ตอนที่10)

ผู้อ่านที่ติดตามมาตลอดคงจำได้ขึ้นใจแล้วว่า

บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาต่อเมื่อ

โครงสร้างแรก การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ
โครงสร้างสอง การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด
โครงสร้างสาม การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ

ซึ่งทั้งสามโครงสร้างนี้เรียกว่า“โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา”

และตอนนี้ ... ผมได้อธิบายมาถึงโครงสร้างแรก ซึ่งประกอบด้วย 4 องค์ประกอบดังนี้
1.มีการกระทำ
2.การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายนอก
3.การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายใน
4.มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

ผมได้อธิบายองค์ประกอบที่ 1 2 และ 3 แล้ว

------

ต่อไปผมจะอธิบายองค์ประกอบที่ 4 การกระทำสัมพันธ์กับผลของการกระทำ

ในกรณีที่เป็นความผิดซึ่งสามารถแยกผลออกจากการกระทำได้นี้ เมื่อมีผลของการกระทำเกิดขึ้น ผู้กระทำจะต้องรับผิดในผลหรือไม่ มีหลักคือ

1. ถ้าผลนั้นเป็นผลโดยตรงผู้กระทำจะต้องรับผิดในผลนั้น ถ้าผลนั้นไม่ใช่ผลโดยตรงผู้กระทำก็ไม่ต้องรับผิดในผลนั้น ซึ่งในทางกฎหมายใช้ทฤษฎีเงื่อนไขมาอธิบาย อาจอธิบายได้ว่า ถ้าไม่มีการกระทำของจำเลยผลก็ไม่เกิดขึ้น จึงต้องถือว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุของผลนั้น

หากนายเอกใช้ไม้ตีนายโทที่หัว – หากนายเอกไม่ตี นายโทก็ไม่บาดเจ็บ ดังนั้นนายเอกจึงมีความผิดฐานทำร้ายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย

2. ถ้าผลโดยตรงทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผลโดยตรงนั้นจะต้องเป็นผลธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย ถ้าเป็นผลผิดธรรมดาผู้กระทำก็ไม่ต้องรับผิดในผลที่ทำให้ตนต้องรับโทษหนักขึ้นนั้น

เช่น กฎหมายอาญาฐานทำร้ายร่างกายวางหลักว่า “ผู้ใดทำร้ายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ … ต้องระวางโทษ …”

แต่หากว่าการทำร้ายร่างกายนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส(เช่นตาบอด, มือขาด, แขนขาด) ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น
หากนายเอกใช้ไม้ตีนายโทที่หัว – นายโทได้รับบาดเจ็บหัวแตกเย็บ 1 เข็ม นายเอกมีความผิดทำร้ายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย

หากนายโทตาบอด – ต้องพิจารณาว่า หากนายเอกไม่ตีนายโทคงไม่บาดเจ็บและตาบอด อีกทั้งการตาบอดนั้น วิญญูชน(บุคคลทั่วไปในสังคม)พึงคาดหมายได้ว่าหัวเป็นศูนย์รวมประสาท หากตีไปที่หัว ผู้เสียหายอาจตาบอดได้ จึงเป็นผลธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้ นายเอกจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสซึ่งมีระวางโทษหนักกว่าความผิดฐานทำร้ายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย

3.ถ้าผลโดยตรงนั้นไม่ใช่ผลที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น แต่เป็นผลที่เกิดจากเหตุแทรกแซง ผู้กระทำจะต้องรับผิดในผลบั้นปลายที่เกิดจากเหตุแทรกแซงนั้นก็ต่อเมื่อผลในบั้นปลายเกิดจากเหตุแทรกแซงที่วิญญูชนคาดหมายได้ ถ้าวิญญูชนคาดหมายไม่ได้ผู้กระทำก็ไม่ต้องรับผิดในผลบั้นปลายนั้น

เช่น นายเอกใช้ปืนปลอมเล็งยิงนั้นแล้วนายโทตกใจกลัวจนถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของนายเอกป็นผลโดยตรงจากนายเอกกระทำความผิดเพราะนายเอกไม่ใช้ปืนปลอมขึ้นเล็งความตายของนายโทก็จะไม่เกิด ต้องถือว่าความตายเกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงจากนายเอกกระทำความผิดและต้องถือว่าเป็นเหตุแซกแชงที่เกิดจากตัวผู้เสียเป็นเหตุอันควรคาดหมายได้เพราะผู้ใดโดนปืนจ่อยิงย่อมต้องตกใจเป็นธรรมดา ดังนั้นนายเอกจึงต้องรับผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา



.

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างแรก (ตอนที่9)

การกระทำโดยประมาทเป็นความผิดได้หรือไม่

เมื่อกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำความโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท”

ดังนั้น บุคคลใดจะต้องรับผิดทางอาญาจะต้องปรากฏว่า บุคคลนั้นกระทำโดยเจตนา ไม่ว่าเจตนาตามความเป็นจริง(เจตนาประสงค์หรือเล็งเห็นผล) หรือเจตนาโดยผลของกฎหมาย(เจตนาโดยพลาด)

หากบุคคลนั้นกระทำโดยประมาท โดยปกติแล้วไม่ต้องรับผิดทางอาญา เช่นประมาททำให้เสียทรัพย์ อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาทเช่น ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือ ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสเป็นต้น ในกรณีเช่นนี้ บุคคลนั้นต้องรับผิด แม้กระทำโดยประมาท

หลักของประมาทโดยสรุปคือ

การกระทำโดยมิได้เจตนาแต่ปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีความระมัดระวังตามวิสัย และพฤติการณ์ ซึ่งระดับความระมัดระวังนั้นไม่อยู่นิ่งตายตัวขึ้นและลงตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์

เช่น ขณะที่นายเอกอยู่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง นายเอกได้หยิบปืนขึ้นมาทำความสะอาด ขัดถูไป ขัดถูมา ปรากฏว่าปืนลั่นไปถูกนายดำตาย และกระสุนยังแฉลบไปโดนนาฬิกาของบริษัท นาฬิกาสวย จำกัด เรือนละล้านบาท ทำให้นาฬิกาแตกละเอียด

ถามว่านายเอกมีการกระทำหรือไม่ ต้องตอบว่ามี เพราะว่า นายเอกหยิบปืนขึ้นมาทำความสะอาดโดยรู้สึก

แต่การกระทำนั้น ไม่มีเจตนา(ทั้งเจตนาประสงค์หรือเล็งเห็นผล)ที่จะทำให้นายดำตาย หรือไม่มีเจตนาทำให้นาฬิกาของบริษัท นาฬิกาสวย จำกัดแตก

แต่ความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการกระทำของนายเอกที่ปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะวิสัย และพฤติการณ์เช่นเดียวกับนายเอกคงไม่นำปืนหยิบขึ้นมาขัดถูไปมาในขณะอยู่ที่ศูนย์การค้าซึ่งมีคนจำนวนมาก

ดังนั้นนายเอกจึงต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แต่นายเอกไม่ต้องรับผิดประมาททำให้เสียทรัพย์เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด

วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างแรก (ตอนที่8)

จากโครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างแรก (ตอนที่7) สามารถสรุปได้ว่า เจตนาแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1.เจตนาตามความเป็นจริง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1.1.เจตนาโดยประสงค์ต่อผล
1.2.เจตนาย่อมเล็งเห็นผล
2.เจตนาโดยผลของกฎหมาย หรือเรียกว่า เจตนาโดยพลาด

-----------------------------------------------------------------------------------

หลักต่อมาที่ต้องพิจารณาคือ
“ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้”

อาจสรุปเป็นหลักสั้น ๆ ได้ว่า

“ไม่รู้(องค์ประกอบภายนอกของความผิด) ไม่มีเจตนา”

กรณีที่ 1. นายเอกไปซ้อมยิงปืนที่ป่าช้าแห่งหนึ่ง โดยใช้โลงศพเก่ามาทำเป็นเป้ายิงปืน เมื่อนายเอกเริ่มซ้อมยิงปืน ปรากฏว่ามีสับปะเหร่อนอนอยู่ในนั้น กระสุนของนายเอกจึงไปถูกสัปเหร่อตายคาที่ เช่นนี้ นายเอกไม่รู้ว่าข้างในนั้นเป็นคน จึงไม่ทราบว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการฆ่าผู้อื่น จึงเป็นกรณีที่นายเอกมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิด ดังนั้นจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้ นายเอกจึงไม่มีเจตนา เมื่อนายเอกไม่มีเจตนาแล้วจึงขาดองค์ประกอบที่ต้องรับผิดในทางอาญาแล้วจึงขาดองค์ประกอบที่ต้องรับผิดในทางอาญา

กรณีที่ 2. นายเอกเข้าไปบ้านนายโทเพื่อร่วมฉลองงานวันเกิดของนายโท ระหว่างที่นายเอกเต้นนั้น นายเอกทำแหวนตก ตอนใกล้เวลากลับบ้าน นายเอกรู้ตัวว่าทำแหวนตกจึงรีบทำการค้นหา แต่นายเอกพบแหวนของนายโทวางอยู่ นายเอกคิดว่าเป็นของตน จึงหยิบเอามา เช่นนี้ นายเอกไม่รู้ว่าแหวนนั้นเป็นของผู้อื่น (นายเอกคิดว่าเป็นของตน) จึงไม่ทราบว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการลักทรัพย์ของผู้อื่น จึงเป็นกรณีที่นายเอกมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิด(ฐานลักทรัพย์) ดังนั้นจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้ นายเอกจึงไม่มีเจตนา เมื่อนายเอกไม่มีเจตนาแล้วจึงขาดองค์ประกอบที่ต้องรับผิดในทางอาญา

วันศุกร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2551

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างแรก (ตอนที่7)

ก่อนที่จะอธิบายต่อ ผมขออธิบายเรื่องเดิมเน้นย้ำอีกครั้งว่า

บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาต่อเมื่อ

โครงสร้างแรก การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ
โครงสร้างสอง การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด
โครงสร้างสาม การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ

ซึ่งทั้งสามโครงสร้างนี้เรียกว่า“โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา”

และตอนนี้ ... ผมได้อธิบายมาถึงโครงสร้างแรก

แต่ที่เคยบอกแล้วว่า โครงสร้างแรกนั้นประกอบด้วย 4 องค์ประกอบดังนี้
1.มีการกระทำ
2.การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายนอก
3.การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายใน
4.มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

ผมได้อธิบายองค์ประกอบที่ 1 และ 2 แล้ว

------

ต่อไปผมจะอธิบายองค์ประกอบที่ 3 การกระทำนั้นต้องครบองค์ประกอบภายใน

องค์ประกอบภายใน ตามหลักกฎหมาย คือ เรื่องเจตนา ครับ

เจตนาตามกฎหมายอาญาสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. เจตนาตามความเป็นจริง คือเจตนาประสงค์ต่อผล, เจตนาย่อมเล็งเห็นผล

1.1 เจตนาประเภทประสงค์ต่อผล ทางตำราเรียกว่า “เจตนาโดยตรง” ประสงค์ต่อผลหมายความว่ามุ่งหมายจะให้เกิดผล ถ้าเกิดผลก็เป็นความผิดสำเร็จ ถ้าผลไม่เกิดก็เป็นผิดพยายาม

ตัวอย่าง
แดงต้องการทำลายแจกันใบละล้านของนายเด่น แดงจึงแกล้งทำเป็นชนแจกันนั้นตกลงมาแตก เช่นนี้นายแดงเจตนาประสงค์ต่อการทำให้เสียทรัพย์ของนายเด่น

1.2 เจตนาเล็งเห็นผล “เจตนาโดยอ้อม” คือเล็งเห็นว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เท่าที่จิตใจของบุคคลในฐานะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้

ตัวอย่าง
แดงต้องการฆ่าดำ แดงใช้ปืนยิงดำซึ่งยืนติดกับขาวปืนที่ใช้เป็นปืนลูกซอง กระสุนถูกดำและแผ่กระจายไปถูกขาว ทั้งดำและขาว ตาย ในกรณีเช่นนี้เมื่อนายแดงต้องการฆ่าดำ นายแดงจึงมีเจตนาประเภทประสงค์ต่อผลต่อนายดำ แต่การฆ่านายดำโดยใช้ปืนลูกซองนั้น นายแดงย่อมเล็งเห็นว่ากระสุนของปืนลูกซองจะต้องแผ่กระจายไปยังบุคคลที่อยู่ใกล้เคียงอย่างแน่นอน นายแดงจึงมีเจตนาประเภทเล็งเห็นผลต่อนายขาว

ตัวอย่าง
นายแดงนั่งกินไวน์ราคาขวดละ 18 ล้านบาท ที่โต๊ะหินอ่อนหน้าบ้าน ขวดไวน์ตั้งอยู่ข้างหน้านายแดง นายแดงเห็นนายขาวและนายดำเดินผ่านมา ด้วยความสนิทกับนายขาว นายแดงจึงเรียกนายขาวดื่มไวน์เพียงคนเดียว นายดำจึงรู้สึกอิจฉามากที่ไม่ได้กินไวน์

นายดำจึงนำปืนลูกซองที่บ้านของตนมาซุ่มยิงขวดไวน์ทิ้ง แต่เมื่อยิงขวดไวน์แล้ว กระสุนกลับกระจายไปโดนนายแดงและนายขาวตายคาที่ เช่นนี้นายดำจึงมีเจตนาประเภทประสงค์ต่อทรัพย์ต่อนายแดง (ต้องการยิงขวดไวน์) แต่นายดำย่อมเล็งเห็นว่ากระสุนของปืนลูกซองจะต้องแผ่กระจายไปยังบุคคลที่อยู่ใกล้เคียงอย่างแน่นอน นายแดงจึงมีเจตนาประเภทเล็งเห็นผลต่อนายแดงและนายขาว

2. เจตนาโดยผลของกฎหมาย คือการกระทำโดยพลาด
กฎหมายอาญาวางหลักว่า “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นเพราะฐานะของบุคคล หรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น”
โปรดสังเกตคำว่า “ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนา” ซึ่งอธิบายได้ว่า ที่จริงแล้วการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นเจตนาเพราะการพิจารณาว่าบุคคลใดกระทำโดยเจตนาหรือไม่ให้พิจารณาว่าบุคคลนั้นกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผลหรือเจตนาย่อมเล็งเห็นต่อผล แต่เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้ที่ได้รับผลร้าย กฎหมายจึงให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนา จึงอาจเรียกได้ว่าเป็น “เจตนาโดยผลของกฎหมาย”

ตัวอย่างประกอบการพิจารณาเรื่องเจตนาโดยพลาด

กรณีที่ 1.

นายแดงซุ่มยิงนายขาว เมื่อนายขาวเดินมา นายแดงลั่นไกปืน แต่ด้วยความโชคร้าย นายขาวหลบไม่ทัน กระสุนกลับไปเฉี่ยวไปถูกหน้าอกของนายขาว นายขาวตายคาที่ และกระสุนได้แฉลบไปถูกนายดำที่นั่งกินก๋วยเตี๋ยวอยู่ ตายคาที่เช่นกัน เช่นนี้ นายแดงกระทำความผิดฐานฆ่านายขาวโดยประสงค์ต่อผล ส่วนนายแดงต้องรับโทษต่อนายดำหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่า นายแดงเจตนาประสงค์ หรือ เล็งต่อผล ต่อนายดำหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า นายแดงไม่มีเจตนาประสงค์ หรือ เล็งต่อผลเลย อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น ดังนั้นจึงถือว่านายแดงมีเจตนากระทำความผิดต่อนายดำ(ผู้ได้รับผลร้าย)ด้วย ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่า เจตนาโดยพลาด สรุปได้ว่า นายแดงต้องรับผิดฐานฆ่านายดำโดยพลาด

กรณีที่ 2.

นายแดงซุ่มยิงนายขาว เมื่อนายขาวเดินมา นายแดงลั่นไกปืน แต่ด้วยความช่างสังเกตของนายขาว นายขาวหลบทัน แต่กระสุนกลับไปถูกนายดำที่นั่งกินก๋วยเตี๋ยวตาย เช่นนี้ นายแดงกระทำความผิดฐานพยายามฆ่านายขาวโดยประสงค์ต่อผล ส่วนนายแดงต้องรับโทษต่อนายดำหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่า นายแดงเจตนาประสงค์ หรือ เล็งต่อผล ต่อนายดำหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า นายแดงไม่มีเจตนาประสงค์ หรือ เล็งต่อผลเลย อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น ดังนั้นจึงถือว่านายแดงมีเจตนากระทำความผิดต่อนายดำ(ผู้ได้รับผลร้าย)ด้วย ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่า เจตนาโดยพลาด สรุปได้ว่า นายแดงต้องรับผิดฐานฆ่านายดำโดยพลาด

กรณีที่ 3.

นายแดงซุ่มยิงนายขาว เมื่อนายขาวเดินมา นายแดงลั่นไกปืน นายขาวหลบไม่ทัน กระสุนกลับไปเฉี่ยวไปถูกหน้าอกของนายขาว นายขาวตายคาที่ แต่กระสุนกลับไปถูกนายดำที่นั่งกินก๋วยเตี๋ยวได้รับบาดเจ็บ เช่นนี้ นายแดงกระทำความผิดฐานฆ่านายขาวโดยประสงค์ต่อผล ส่วนนายแดงต้องรับโทษต่อนายดำหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่า นายแดงเจตนาประสงค์ หรือ เล็งต่อผล ต่อนายดำหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า นายแดงไม่มีเจตนาประสงค์ หรือ เล็งต่อผลเลย อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น ดังนั้นจึงถือว่านายแดงมีเจตนากระทำความผิดต่อนายดำ(ผู้ได้รับผลร้าย)ด้วย ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่า เจตนาโดยพลาด สรุปได้ว่า นายแดงต้องรับผิดฐานพยายามฆ่า(เพราะไม่ตายเพียงได้รับบาดเจ็บเท่านั้น)นายดำโดยพลาด

ข้อสังเกต

1.ปกติแล้ว การกระทำโดยพลาดจะมีบุคคล 3 ฝ่าย
1.1.บุคคลที่กระทำความผิด (นายแดง)
1.2.ผู้เสียหายฝ่ายที่ 1 (นายขาว)
1.3.ผู้เสียหายฝ่ายที่ 2 (นายดำ)

2.บุคคลที่กระทำความผิด (นายแดง) ต้องการจะกระทำความผิดต่อ ผู้เสียหายฝ่ายที่ 1 (นายขาว) เท่านั้น แต่ผลของการกระทำดังกล่าว ไปเกิดแก่ ผู้เสียหายฝ่ายที่ 2 (นายดำ) ด้วย

3.ผู้เสียหายฝ่ายที่ 1 (นายขาว) อาจได้รับผลร้ายเท่ากับ ผู้เสียหายฝ่ายที่ 2 (นายดำ) ก็ได้ เช่นกรณีที่ 1

4.ผู้เสียหายฝ่ายที่ 1 (นายขาว) อาจได้รับผลร้ายน้อยกว่า ผู้เสียหายฝ่ายที่ 2 (นายดำ) ก็ได้ เช่นกรณีที่ 2

5.ผู้เสียหายฝ่ายที่ 1 (นายขาว) อาจได้รับผลร้ายมากกว่า ผู้เสียหายฝ่ายที่ 2 (นายดำ)ก็ได้ ดังเช่นกรณีที่ 3

วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2551

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างแรก (ตอนที่6)

ตามที่เคยได้อธิบายเรื่ององคืประกอบภายนอกของความผิดแล้ว พี่ขอยกตัวอย่าง เรื่ององค์ประกอบภายนอกของความผิด ดังนี้

ผู้กระทำ /การกระทำ /กรรมของการกระทำ

ผู้ใด /ฆ่า / ผู้อื่น
ผู้ใด /เอาไป /ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
ผู้ใด /ทำร้ายร่างกาย /ผู้อื่น
ผู้ใด /วางเพลิงเผา /ทรัพย์ของผู้อื่น


ข้อสังเกต ในเรื่องกรรมของการกระทำ

ปกติแล้ว

ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท แต่หากว่า

ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ดังต่อไปนี้
(1) โรงเรือน เรือ หรือแพที่คนอยู่อาศัย

(6) …

ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี

สังเกตได้ว่า
การวางเพลิงปกติระวางโทษไม่เท่าไร แต่หากวางเพลิงทรัพย์ที่สำคัญ ๆ กฎหมายระวางโทษไว้สูงมาก เช่นนี้เรียกว่าเป็นเหตุฉกรรจ์ หรือเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดรับโทษหนักขึ้น

เหตุฉกรรจ์ตามกฎหมายอาญายังมีอีกหลายตัวอย่างเช่น

ปกติแล้ว ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
แต่หากว่า
ผู้ใด
(1) ฆ่าบุพการี

(7) ..
ต้องระวางโทษประหารชีวิต

สังเกตได้ว่าการฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี แล้วแต่ดุลยพินิจศาล แต่หากการฆ่าบุพการี กฎหมายระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียว เช่นนี้เรียกว่าเป็นเหตุฉกรรจ์

อย่างไรก็ตาม

กฎหมายวางหลักว่า “บุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด(เหตุฉกรรจ์) บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้น”

ซึ่งอธิบายได้ง่าย ๆ ว่า

หากนาย ก. ไปดักฆ่านาย ด. เมื่อนาย พ. บิดาของนาย ก. เดินมา นาย ก. คิดว่าเป็นนาย ด. จึงยิงไป ทำให้นาย พ. บิดาของนาย ก. เสียชีวิต เช่นนี้นาย ก. ต้องรับผิดฐานฆ่าบุพการีหรือไม่

เมื่อนาย ก. ไม่รู้ว่า ผู้ที่นาย ก. ฆ่านั้นคือพ่อของตน นาย ก. ย่อมไม่มีความผิดฐาน ฆ่าบุพการี นาย ก. มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเท่านั้น เพราะ “นาย ก. จะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด(เหตุฉกรรจ์) นาย ก. จะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้น”


ไหน ๆ พูดถึงเหตุฉกรรจ์ แล้วก็ขออธิบายคำว่า ผลฉกรรจ์ ซึ่งก็คือ ผลที่ทำให้ผู้กระทำความผิดรับโทษหนักขึ้น

ปกติแล้ว ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากว่า

ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี (อันตรายสาหัสนั้น คือ ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์ เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว แท้งลูก …)

สังเกตได้ว่าการทำร้ายร่างกายผู้อื่นต้องระวางจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่ดุลยพินิจศาล แต่หากการทำร้ายร่างกายผู้อื่นนั้น ทำให้ผู้นั้นรับอันตรายสาหัส กฎหมายระวางโทษระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปีซึ่งเป็นโทษที่หนักกว่า เช่นนี้เรียกว่าเป็นผลฉกรรจ์ ซึ่งก็คือ ผลที่ทำให้ผู้กระทำความผิดรับโทษหนักขึ้น