คู่มือเตรียมสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ สอบตรง ภาคบัณฑิต (208 หน้า)

*** ชี้แจงโครงการ “ติวเข้มสอบเข้านิติศาสตร์ สอบตรง & ภาคบัณฑิต ปี 2557” by TutorlawGroup

โครงการ “ติวเข้มสอบเข้านิติศาสตร์ สอบตรง & ภาคบัณฑิต ปี 2557” by TutorlawGroup สวัสดีครับทุกท่าน
ในช่วงนี้ทุกคนคงกำลังเตรียมตัวที่จะสอบข้อเขียน โครงการนิติศาสตร์ สอบตรง & ภาคบัณฑิต และเพื่อเป็นแรงผลักดันทุกท่านที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ สามารถสอบเข้าให้ได้ตามที่มุ่งหวังไว้ TutorlawGroup จึงจัดโครงการ “ติวเข้มสอบเข้านิติศาสตร์ สอบตรง & ภาคบัณฑิต ปี 2557” เหมือนเช่นทุกปี
กำหนดการติวเข้มสอบเข้านิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (สอบตรง)57 เหลือรอบเดียวคือ เรียนวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2556 และ วันเสาร์ที่ 8 มกราคม 2557 เวลา 08.30 – 13.00 น. สอบวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2557 องค์ประกอบวิชาและค่าน้าหนักแต่ละวิชาที่ใช้ในการสอบคัดเลือก (สอบข้อเขียน) รวม 100 คะแนน ดังนี้ 1. วิชาความถนัดทั่วไป (GAT รหัส 85) 30 % 2. วิชาภาษาอังกฤษ 10 % 3. วิชาเฉพาะ 60 % 3.1 วิชาความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมาย 10 % 3.2 วิชาความสามารถในการใช้เหตุผลทางกฎหมาย 30 % 3.3 วิชาเรียงความ 10 % 3.4 วิชาย่อความ 10 %
ส่วนการสอบเข้าโครงการนิติศาสตร์ ภาคบัณฑิต ของผู้จบปริญญาตรีสาขาอื่นมาแล้วนั้น ของทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีความแตกต่างดังนี้ กำหนดการติวเข้มสอบเข้านิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ & จุฬา (ภาคบัณฑิต)2557 รอบแรก เดือนกุมภาพันธ์ 57 เรียนวันเสาร์ที่ 8 และ 15เวลา 08.30 – 13.00 น. รอบที่สอง เดือนมีนาคม 57 เรียนวันเสาร์ที่ 8 และ 15 เวลา 08.30 – 13.00 น.
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นิติ ธรรมศาสตร์ ภาคบัณฑิต เปิดรับสมัคร 1 ตุลาคม 2556 – 31 มกราคม 2557 สอบวันที่ 30 มีนาคม 2557 1. ความรู้ทั่วไป 20 ข้อ 20 คะแนน 2. ความสามารถในการใช้เหตุผลทางกฎหมาย 15 ข้อ 30 คะแนน 3. ย่อความ 1 ข้อ 25 คะแนน 4. เรียงความ 1 ข้อ 25 คะแนน คลิ๊กเพื่อดูกำหนดการสอบนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต ธรรมศาสตร์ ปี 2556
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – ข้อสอบอัตนัย (ข้อเขียน) ประมาณ 3 – 4 ข้อ และข้อสอบเรียงความ ย่อความ
คลิ๊กเพื่อดู กำหนดการสอบ ภาคบัณฑิต จุฬา ปี 2556 !!!
นิติ จุฬา ภาคบัณฑิต เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ ถึง 30 เมษายน 2557 สอบวันที่ 11 พฤษภาคม 2557 ความสามารถในการใช้เหตุผลทางกฎหมาย ย่อความ เรียงความ 100 คะแนน ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมโทร 0859913533

คลังความรู้สำหรับสอบเข้าคณะนิติศาสตร์

วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ขอบเขตการใช้กฎหมายอาญา: หลักความผิดสากล

ขอบเขตการใช้กฎหมายอาญา: หลักความผิดสากล

ผู้ใดกระทำความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร คือ
1.ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
2.ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย
3.ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง
4.ความผิดเกี่ยวกับเพศ
5.ความผิดฐานชิงทรัพย์และความผิดฐานปล้นทรัพย์ซึ่งได้กระทำในทะเลหลวง

ตัวอย่าง
กัปตันแจ็คร่วมมือกับกัปตันบาบารามอสรวมทั้งสมุนกว่า 20 ชีวิต ปล้นทรัพย์ในทะเลหลวง แม้ว่ากัปตันแจ็คกับบาบารามอสไม่ใช่คนไทย และผู้เสียหายจะไม่ใช่คนไทยก็ตาม แต่ในเมื่อทั้งสองกระทำความผิดสากลคือปล้นทรัพย์ในทะเลหลวง ทั้งสองจึงต้องรับโทษตามกฎหมายไทย

ขอบเขตการใช้กฎหมายอาญา: หลักบุคคล

ขอบเขตการใช้กฎหมายอาญา: หลักบุคคล

ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้ จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร คือ
-ความผิดเกี่ยวกับเพศ
-ความผิดต่อชีวิต
-ความผิดต่อร่างกาย
-ความผิดฐานทอดทิ้งเด็กคนป่วยเจ็บหรือคนชรา
-ความผิดต่อเสรีภาพ
-ความผิดฐานลักทรัพย์ และวิ่งราวทรัพย์
-ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์
-ความผิดฐานฉ้อโกง
-ความผิดฐานยักยอก
-ความผิดฐานรับของโจร
-ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

หลักบุคคลมี 2 กรณีดังนี้
(ก) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ

เช่นนายเอกคนไทยไปเรียนต่อที่ลาว นายเอกไม่พอใจที่นายดำมาแย่งแฟนของตน นายเอกจึงยิงนายดำตาย เช่นนี้เป็นกรณีที่ความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรโดยแท้ แต่นายเอกผู้กระทำความผิดเป็นคนไทย หากรัฐบาลประเทศลาวร้องขอให้ลงโทษเช่นนี้ นายเอกก็ต้องรับโทษตามกฎหมายไทย

(ข) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ

เช่นนายเอกคนไทยไปเรียนต่อที่ลาว นายดำไม่พอใจที่นายเอกมาแย่งแฟนของตน นายดำจึงยิงนายเอกตาย เช่นนี้เป็นกรณีที่ความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรโดยแท้ แต่นายดำผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าว หากรัฐบาลประเทศไทยร้องขอให้ลงโทษเช่นนี้ นายดำก็ต้องรับโทษตามกฎหมายไทย

ขอบเขตการใช้กฎหมายอาญา: หลักดินแดน

ขอบเขตการใช้กฎหมายอาญา:หลักดินแดน

หลัก ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร ต้องรับโทษตามกฎหมาย

เช่นนายเอกยิงนายโทที่พาหุรัด นายเอกกระทำความผิดในราชอาณาจักร นายเอกจึงต้องรับโทษตามกฎหมาย

--------------------------------------------------------------------------

กรณีให้ถือว่ากระทำในราชอาณาจักร

1.การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทยขณะที่อยู่นอกราชอาณาจักร ให้ถือว่ากระทำในราชอาณาจักร

เช่นนายเอกยิงนายโทบนสายการบินไทยขณะที่อยู่เหนือน่านฟ้าเวียดนาม(สังเกตว่าอยู่นอกราชอาณาจักร) แต่ นายเอกจึงต้องรับโทษตามกฎหมายไทย เพราะ การกระทำความผิดบนอากาศยานไทยหรือเรือไทย กฎหมายให้ถือว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดในราชอาณาจักร

2.ความผิดใดที่การกระทำแม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำในราชอาณาจักร

เช่นนายเอก(คนไทย)ยิงนายโท(คนลาว) ขณะที่นายเอกอยู่จังหวัดหนองคาย ส่วนนายโทอยู่เวียงจันทร์เช่นนี้การกระทำของนายเอกส่วนหนึ่งได้เกิดในราชอาณาจักรไทย กฎหมายให้ถือว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดในราชอาณาจักร ดังนั้นนายเอกจึงต้องรับโทษตามกฎหมายไทย

3.ผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักรโดยผู้กระทำประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร

เช่นนายเอก(คนลาว) ยิงนายโท(คนไทย) ขณะที่นายเอกอยู่เวียงจันทร์ ส่วนนายโทอยู่จังหวัดหนองคาย เช่นนี้ผลของการกระทำของนายเอกได้เกิดในราชอาณาจักรไทย คือนายโทตาย กฎหมายให้ถือว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดในราชอาณาจักร ดังนั้นนายเอกจึงต้องรับโทษตามกฎหมายไทย

4.ในกรณีการตระเตรียมการ หรือพยายามกระทำการใด ซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักรถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการตระเตรียมการหรือพยายามกระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร

เช่นนายเอก(คนลาว) ยิงนายโท(คนไทย) ขณะที่นายเอกอยู่เวียงจันทร์ ส่วนนายโทอยู่จังหวัดหนองคาย แต่นายโทหลบทัน (ดังนั้นเป็นกรณี พยายามกระทำความผิด) เช่นนี้ถ้าเกิดเป็นผลสำเร็จคือนายโทหลบไม่ทัน แล้วตาย เห็นได้ว่าผลของการกระทำจะเกิดในราชอาณาจักรไทย กฎหมายให้ถือว่าการพยายามกระทำความผิดนั้นได้กระทำลงในราชอาณาจักร ดังนั้นนายเอกจึงต้องรับโทษตามกฎหมายไทย (นั่นก็คือพยายามฆ่า)

5. ความผิดใดที่ได้กระทำในราชอาณาจักร หรือที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร แม้การกระทำของผู้เป็นตัวการด้วยกัน ของผู้สนับสนุนหรือของผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ก็ให้ถือว่าตัวการ ผู้สนับสนุนหรือผู้ใช้ให้กระทำได้กระทำในราชอาณาจักร

เช่นนายสอง(คนลาว) ได้ว่าจ้างให้ นายเอก(คนลาว) ยิงนายโท(คนไทย) ที่จังหวัดหนองคาย เช่นนี้แม้การใช้ให้กระทำความผิดเกิดขึ้นที่นอกราชอาณาจักร แต่ความผิดที่เกิดจากการใช้ได้กระทำลงในราชอาณาจักร ดังนั้น กฎหมายให้ถือว่าการใช้ให้กระทำความผิดเกิดในราชอาณาจักร ดังนั้นนายสองจึงต้องรับโทษตามกฎหมายไทย

ขอบเขตการใช้กฎหมายอาญา

ในเมื่อ อำนาจนิติบัญญัติคืออำนาจในการตรากฎหมายขึ้นบังคับใช้ ซึ่งโดยหลักแล้วสามารถตรากฎหมายขึ้นบังคับใช้ได้ภายในราชอาณาจักรของตนเท่านั้น ไม่สามารถออกกฎหมายใด ๆ ไปบังคับนอกราชอาณาจักรได้ จึงต้องมาทำการศึกษากันว่า กฎหมายอาญามีขอบเขตการใช้เพียงไร

การพิจารณาว่าขอบเขตการใช้กฎหมายอาญามีเพียงให้พิจารณา 3 หลักเกณฑ์ดังนี้
1.หลักดินแดน
2.หลักบุคคล
3.หลักความผิดสากล

หลักการพื้นฐานอำนาจอธิปไตย (Sovereignty)

อำนาจอธิปไตย หมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ

ดังนั้น สิ่งอื่นใดจะมีอำนาจยิ่งกว่าหรือขัดต่ออำนาจอธิปไตยหาได้ไม่อำนาจอธิปไตยนั้น

โดยหลักสากล แต่ละรัฐจะมีองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยอยู่ 3 องค์กร ได้แก่
1.องค์กรฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล
2.นิติบัญญัติหรือรัฐสภา และ
3.ตุลาการหรือศาล

อำนาจนิติบัญญัติคืออำนาจในการตรากฎหมายขึ้นบังคับใช้ ซึ่งโดยหลักแล้วสามารถตรากฎหมายขึ้นบังคับใช้ได้ภายในราชอาณาจักรของตนเท่านั้น ไม่สามารถออกกฎหมายใด ๆ ไปบังคับนอกราชอาณาจักรได้

อำนาจอธิปไตยนี้ นับเป็นองค์ประกอบของสำคัญที่สุดของความเป็นรัฐ เพราะการจะเป็นรัฐได้นั้น นอกจากต้องประกอบด้วย อาณาเขต ประชากร และรัฐบาลแล้ว ย่อมต้องมีอำนาจอธิปไตยด้วย กล่าวคือ ประเทศนั้นต้องเป็นประเทศที่สามารถมีอำนาจสูงสุด (อำนาจอธิปไตย) ในการปกครองตนเอง จึงจะสามารถเรียกว่า "รัฐ" ได้

Nullum crimen nulla poena sine lege

หลักสำคัญของกฎหมายอาญาปรากฎอยู่ในสุภาษิตละตินโบราณว่า

Nullum crimen nulla poena sine lege

หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า

"No crime, no punishment without a previous penal law"


หรืออาจแปลเป็นภาษาไทยได้ดังนี้

---------------------------------
ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้
---------------------------------


ปรากฎอยู่ในกฎหมายไทยมาตรา มาตรา 2 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งวางหลักไว้ว่า

“บุคคลจักต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ”
เมื่อบุคคลใดได้กระทำการอย่างใดลง และในขณะนั้น การกระทำนั้นไม่ถือเป็นความผิดอาญา ย่อมไม่อาจจะบัญญัติย้อนหลังไปได้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด

หลักดังกล่าวนี้เป็นหลักสภาพบังคับทางอาญาที่สำคัญซึ่งอาจจะถือได้ว่า เป็นหัวใจของกฎหมายอาญา หลักนี้ได้กล่าวถึงลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญาไว้ 4ประการคือ

1.กฎหมายอาญาต้องชัดเจนแน่นอน

2.ห้ามใช้กฎหมายจารีตประเพณีลงโทษทางอาญาแก่บุคคล

3.ห้ามใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งลงโทษทางอาญาแก่บุคคล

4.กฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลัง

เกริ่นนำ: กฎหมายอาญา

กฎหมายอาญา คือ กฎหมายที่รวมเอาลักษณะความผิดต่าง ๆ และกำหนดบทลงโทษมาบัญญัติขึ้น และมีวัตถุประสงค์จะรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคม การกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคม หรือคนส่วนใหญ่ของประเทศถือว่าเป็นความผิดทางอาญาหากปล่อยให้มีการแก้แค้นกันเองหรือปล่อยให้ผู้กระทำผิดแล้วไม่มีการลงโทษจะทำให้มีการกระทำความผิดทางอาญามากขึ้นสังคมก็จะขาดความสงบสุข

วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551

การแบ่งประเภทกฎหมายในมุมมองของหลักศีลธรรม

1. Mala In se (การกระทำที่เป็นความผิดในตัวของมันเอง)

การกระทำความผิดในกรณีนี้นั้น ไม่ว่าจะกระทำลงในสถานที่ใด ยุคสมัยใด เวลาใด และไม่ว่าผู้กระทำเป็นผู้ใดก็ตาม คนในสังคมมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่าการกระทำนั้นผิดและผู้กระทำควรถูกลงโทษ เช่น ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ทำร้ายร่างกาย ลักทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งคนทั่วโลกมีความผิดเห็นไปในทางเดียวกันว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด ดังนั้น ศีลธรรม ศาสนาจึงเป็นตัวกำหนดที่สำคัญของการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมายของการกระทำที่เป็นความผิดในตัวของมันเอง

------------------------------------------------------------------------------------

2. Mala Prohibita (การกระทำที่กฎหมายกำหนดให้เป็นความผิด)

โดยปกติแล้วการกระทำกรณีนี้ไม่ได้เป็นความผิดในตัวของมันเอง แต่รัฐกำหนดขึ้นมาว่าการกระทำเช่นนี้เป็นความผิดอาญาเพื่อประโยชน์ของคนในรัฐนั้นเอง เช่น รัฐออกกฎหมายจราจรควบคุมการใช้ท้องถนน เป็นต้น และเอาโทษทางอาญาแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎจราจรนั้น ดังนั้นผู้ที่ไม่สวมหมวกกันน็อคเวลาขับขี่รถจักรยานยนต์จึงไม่ผิดศีลธรรม แต่รัฐเล็งเห็นว่าย่อมไม่ปลอดภัยต่อคนในรัฐของตน รัฐจึงจำเป็นต้องกำหนดว่าหากผู้ใดที่ไม่สวมหมวกกันน็อคเวลาขับขี่รถจักรยานยนต์ การกระทำเช่นว่านั้นย่อมเป็นความผิด

ความหมายของกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน

กฎหมายเอกชน

คือ กฎเกณฑ์ทั้งหลายของกฎหมายที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้อยู่ใต้ปกครองด้วยกัน ซึ่งกฎหมายเอกชนทำหน้าที่เป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันเอง โดยความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชนมีฐานะที่เท่าเทียมกัน

-------------------------------------------------------------------------------------

ส่วนกฎหมายมหาชน

คือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานะและอำนาจของผู้ปกครอง รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง อาจกล่าวได้ว่า กฎหมายหมายชนนั้นเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับเอกชน ดังนั้น ความสัมพันธ์ในทางกฎหมายมหาชนจึงเป็นความสัมพันธ์ที่รัฐมีฐานะเหนือเอกชน

เทคนิคการทำข้อสอบ SAT

ในการสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ โครงการสอบตรงนั้น SAT (Scholastic Aptitude tests) หรือ ข้อสอบความถนัดเชิงวิชาการ เป็นข้อสอบที่นิยมนำมาใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ สาขาวิชานิติศาสตร์ โดยต้องการทดสอบความสามารถของบุคคล 3 ด้านคือ
-ความสามารถทางด้านจำนวนและตัวเลข
-ความสามารถทางด้านการใช้ภาษา
-ความสามารถทางด้านการใช้เหตุผล

หากเราสามารถทำข้อสอบ SAT ได้มากกว่าคนอื่น ในขณะที่เรามีคะแนนในวิชาอื่นมากพอๆกับคนอื่น ไม่แน่ว่าข้อสอบ SAT อาจจะกลายเป็นตัวช่วยพาให้เราไปถึงฝั่งฝันก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นหากเราให้ความสำคัญกับการฝึกทำโจทย์ SAT สักนิด ฝันของเราก็อาจกลายเป็นจริงได้โดยง่าย

ดังนั้น น้อง ๆ ควรให้ความสนใจ ในสอบ SAT ด้วย ...

เวบติวเพื่อสอบเข้าคณะนิติศาสตร์นี้ จึงได้รวบรวมเทคนิคการทำข้อสอบ SAT เพื่อให้น้อง ๆ ใช้เป็นแนวทางในการสอบ SAT ด้วยครับ

พร้อมแล้ว คลิ๊กไปที่ ...

เทคนิคการทำข้อสอบ SAT

เทคนิคการเขียนเรียงความและการย่อความ

ในการสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ โครงการสอบตรงนั้น การเขียนเรียงความ และ การย่อความ เป็นวิชาหนึ่งที่ใช้ในการทดสอบ และถือว่าเป็นการทดสอบที่หินเอาการเลยครับ เพราะการเขียนเรียงความเป็นการนำองค์ความรู้ทางกฎหมาย และข้อมูลต่าง ๆ มาถ่ายทอดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร

ดังนั้น น้อง ๆ ควรให้ความสนใจ ในการเขียนเรียงความ และ การย่อความ ด้วย ...

เวบติวเพื่อสอบเข้าคณะนิติศาสตร์นี้ จึงได้รวบรวมเทคนิคการเขียนเรียงความ และ การย่อความ เพื่อให้น้อง ๆ ใช้เป็นแนวทางในการสอบการเขียนเรียงความ และ การย่อความ ด้วยครับ

พร้อมแล้ว คลิ๊กไปที่ ...

เทคนิคการเขียนเรียงความ และ หลักการย่อความ

ภาษาอังกฤษสำหรับสอบเข้าคณะนิติศาสตร์

ในการสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ โครงการสอบตรงนั้น ภาษาอังกฤษ เป็นวิชาหนึ่งที่ใช้ในการทดสอบ และถือเป็นวิชาที่อาจจะทำให้สอบเข้าได้หรือไม่ได้ เลยทีเดียว

ดังนั้น น้อง ๆ ควรให้ความสนใจ ในวิชาภาษาอังกฤษด้วย ... และการทดสอบภาษาอังกฤษนั้นจะเน้นให้ทำข้อสอบ Reading โดยจะให้ Passages ประมาณ 5-6 Passages

เวบติวเพื่อสอบเข้าคณะนิติศาสตร์นี้ จึงได้รวบรวมข้อสอบ reading เพื่อให้น้อง ๆ ใช้เป็นแนวทางในการสอบวิชา ภาษาอังกฤษ ครับ

พร้อมแล้ว คลิ๊กไปที่ ...

เวบติวเพื่อสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ : ติวภาษาอังกฤษ

วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ระบบกฎหมายโลก

ระบบกฎหมายโลก มี 2 ระบบได้แก่

1.ระบบจารีตประเพณี (Common Law System)

ระบบจารีตประเพณีมีกำเนิดมาจากอังกฤษ เป็นระบบที่ใช้กันในเครือจักรภพอังกฤษและในสหรัฐอเมริกา โดยจะใช้คำพิพากษาที่ศาลเคยวางหลักไว้แล้วเป็นหลักในการพิจารณา จะให้อำนาจผู้พิพากษาในการตีความกฎหมายอย่างมาก จึงลดทอนความสำคัญของกฎหมายของรัฐสภาลง (อย่าลืมว่าระบบจารีตประเพณีนั้นมีกฎหมายลายลักษณ์อักษร) การพิจารณาคดีของศาลในระบบจารีตประเพณี มีลูกขุน (Jury) ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนผู้พิพากษา (Judge) จะทำหน้าที่วางหลักกฎหมายและชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมาย คำพิพากษาของศาลเป็นบ่อเกิดของกฎหมายในระบบจารีตประเพณี กล่าวคือศาลเป็นผู้สร้างกฎหมายขึ้นจากการตัดสินคดีของศาล

ดังนั้นระบบกฎหมายนี้จึงให้ความสำคัญกับวิธีการพิจารณาคดีของศาลเป็นอย่างมากและถือเอาคำพิพากษาศาลสูงที่ได้พิจารณาคดีในเรื่องคล้ายคลึงกันหรือ แนวเดียวกันมาเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในภายหลัง

ที่มาของกฎหมายในระบบจารีตประเพณีนั้น สามารถแยกพิจารณาออกเป็น 5 ประการ ดังนี้คือ

1.คำพิพากษาของศาล การยึดถือคำพิพากษาซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากจารีตประเพณี โดยนำมาเป็นแนวทางในการตัดสินคดีต่อๆ ไปที่มีข้อเท็จจริงที่เหมือนหรือใกล้เคียงกัน และตัดสินตามแนวทางเดียวกัน

2.จารีตประเพณี เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านาน ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจึงเป็นที่ยอมรับของคนเป็นจำนวนมาก และจารีตประเพณีถือเป็นรากฐานอันสำคัญ ในระบบกฎหมายจารีตประเพณี

3.ศาสนา มีหลักเกณฑ์และคำสอนที่กล่าวไว้ในลักษณะเดียวกันว่าให้ทุกคนทำความดี ละเว้นความชั่ว และมนุษย์ในสังคมก็ได้พยายามปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาสืบต่อกันมาตามความเชื่อของตนเองและสังคมนั้นๆ จนกลายเป็นการนำหลักเกณฑ์ทางศาสนามากำหนดไว้ว่าเป็นความผิด และกำหนดโทษเพื่อใช้ลงโทษผู้กระทำความผิด ศาสนาจึงเป็นที่มาของกฎหมายในระบบจารีตประเพณีอีกประการหนึ่ง

4.หลักความยุติธรรม กล่าวคือผู้พิพากษาสามารถตัดสินคดีต่างๆ โดยอาศัยหลักความเป็นธรรม ไม่จำเป็นต้องยึดถือคำพิพากษาฎีกาเก่าๆ เป็นแนวในการตัดสินหรือไม่จำเป็นต้องตัดสินตามจารีตประเพณี ทั้งนี้เพื่อแก้ไขความบกพร่องของ Common law เพราะการใช้หลักของจารีตประเพณีเป็นการยึดถือหลักการที่มีมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ดังนั้น เมื่อนำมาใช้กับเหตุการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต การนำหลักจารีตประเพณีมาใช้บางครั้ง จึงไม่เหมาะสมและไม่เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม การใช้หลักความยุติธรรม นั้นก็เป็นการใช้ควบคู่ไปกับระบบจารีตประเพณี เพื่อให้ความเป็นธรรมมากขึ้นนั่นเอง

5.ความเห็นของนักนิติศาสตร์ ความเห็นของนักนิติศาสตร์ก็สามารถเป็นที่มาของกฎหมายได้เช่นกัน หากเป็นความเห็นของบุคคลที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการนิติศาสตร์ ทั้งนี้เป็นเพราะความเห็นเหล่านั้น ศาลเองก็อาจต้องนำไปพิจารณาและทำให้ผลการตัดสินคดีเปลี่ยนแปลงไปได้

------------------------------------------------------------------------------------

2.ระบบลายลักษณ์อักษร หรือ ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law System)

เป็นระบบที่ใช้กันในภาคพื้นทวีปยุโรป เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ รวมถึงประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย โดยผู้พิพากษาจะต้องค้นหากฎหมายที่จะนำมาตัดสินคดีความจากกฎหมายลายลักษณ์อักษรก่อน ดังนั้น จึงมีการตรากฎหมายลายลักษณ์อักษรขึ้นมาเพื่อบังคับใช้ และวางหลักกฎหมายที่มีลักษณะทั่วไป สามารถนำไปปรับใช้กับกรณีต่างๆที่เกิดขึ้นได้ ส่วนการพิจารณาคดีของศาลในประเทศที่ใช้ระบบลายลักษณ์อักษร นั้น จะมีผู้พิพากษาทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ไม่มีลูกขุน

ที่มาของกฎหมายในระบบประมวลกฎหมายนั้นมีที่มา 3 ประการคือ

1.กฎหมายลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะมีการบัญญัติขึ้นมาโดยมีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้คือ
1.1 รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายใดจะขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญย่อมมิได้
1.2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่บัญญัติที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกำหนดรายละเอียดต่างๆ ของรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นพระราชบัญญัติที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อเป็นตัวขยายบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เช่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หรือว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เป็นต้น
1.3 พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยพระมหากษัตริย์อันเกิดจากคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา
1.4 พระราชกำหนด ตราขึ้นโดยพระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี ซึ่งแตกต่างจากพระราชบัญญัติ
1.5 พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี เช่น พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร์ เป็นต้น
1.6 กฎกระทรวง เป็นกรณีที่รัฐมนตรีเป็นผู้ออกให้เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทกำหนดไว้ให้ออกเป็นกฎกระทรวง
1.7 กฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ข้อบัญญัติ หรือข้อบังคับต่างๆ เป็นต้น ที่ออกโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ

2.จารีตประเพณี ซึ่งก็คือสิ่งที่ปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานแล้ว จนเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปว่าเป็นเสมือนกฎหมาย เช่น การที่นักมวยขึ้นสังเวียน สาธารณชนย่อมเข้าใจว่านักมวยที่ขึ้นชก ไม่ได้กระทำผิดฐานทำร้ายร่างกาย คงเป็นเพราะเป็นจารีตประเพณีที่รู้สึกกันโดยทั่วไปว่าเป็นเสมือนกฎหมาย เป็นต้น

3.หลักกฎหมายทั่วไป ศาลจะเป็นผู้ค้นหาหลักกฎหมายทั่วไปซึ่งอาจได้จากสุภาษิตกฎหมายต่างๆ เช่น หลักผู้ซื้อต้องระวัง เป็นต้น

สิทธิ หน้าที่ ความรับผิด

เครื่องมือของกฎหมายที่ใช้ในการจัดความสัมพันธ์ของคนในสังคมคือ สิทธิ หน้าที่ ความรับผิด

สิทธิ
หมายถึงอำนาจหรือประโยชน์ที่กฎหมายให้ความคุ้มครองให้ หรือความสามารถในการที่จะกระทำการใดๆได้โดยมีกฎหมายรับรอง โดยไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น

หน้าที่
หมายถึง กิจที่ควรหรือต้องทำ เช่นหน้าที่ในการใช้สิทธิเลือกตั้ง หน้าที่ในการชำระหนี้เมื่อเจ้าหนี้เรียกร้องเป็นต้น
ความรับผิด หมายถึงความมีหน้าที่ผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระหนี้ หรือกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง

สิทธิหน้าที่ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1.สิทธิ หน้าที่ทางเอกชน

คำว่า "สิทธิ" ตามกฎหมายเอกชน หมายถึง ความเป็นเจ้าของความมีอำนาจเหนือหรือความสามารถในการจัดการอย่างหนึ่งอย่างใด แบ่งออกเป็น

1. สิทธิเหนือทรัพย์สิน(ทรัพยสิทธิ) และ
2.สิทธิเหนือบุคคล(บุคคลสิทธิ) (ผู้เขียนจะอธิบายถึงทรัพยสิทธิและบุคคลสิทธิโดยละเอียดในภายหน้า)

ส่วนคำว่า "หน้าที่" ตามกฎหมายเอกชน หมายถึง ความผูกพันที่บุคคลจะต้องปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามสิทธิหรือประโยชน์อันชอบธรรมของบุคคล หน้าที่นี้โดยปกติจะเป็นของคู่สัญญาฝ่ายที่เป็นลูกหนี้ ซึ่งจะต้องทำการชำระหนี้โดยการกระทำการ งดเว้นกระทำการหรือส่งมอบทรัพย์สินแก่เจ้าหนี้ของตน

คู่กรณีบนความสัมพันธ์ของสิทธิทางเอกชน
คือ เอกชน กับ เอกชน อาจเรียกกฎหมายที่มีสิทธิทางเอกชนเป็นเครื่องมือในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนว่า กฎหมายเอกชน

ดังนั้น กฎหมายเอกชน (Private Law) คือ กฎข้อบังคับเกี่ยวกับความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวพันทางกฎหมายระหว่างเอกชนด้วยกัน

ตัวอย่างกล่มกฎหมายเอกชน
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (บุคคล ทรัพย์ ครอบครัว มรดก นิติกรรม ละเมิด) เป็นต้น


2.สิทธิ หน้าที่ทางมหาชน

สิทธิ ตามกฎหมายมหาชน หมายถึง อำนาจหรือโอกาสที่มีการรับรองและคุ้มครองและมีทางเลือกว่าจะทำหรือไม่ก็ได้ ใช้ควบคู่กับคำว่า "เสรีภาพ" ซึ่งหมายถึง ความอิสระที่จะกระทำหรืองดเว้นกระทำการรับรองหรือคุ้มครอง

สิทธิเสรีภาพที่กระทำโดยกฎหมายมหาชน เช่น สิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาสิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในครอบครัว เกียรติยศชื่อเสียง ความเป็นอยู่ส่วนตัว เสรีภาพในร่างกาย เสรีภาพในเคหะสถาน เสรีภาพในการนับถือศาสนา

คำว่า "หน้าที่" ตามกฎหมายมหาชน หมายถึง สิ่งที่ต้องปฏิบัติ เช่น หน้าที่ในการใช้สิทธิเลือกตั้ง หน้าที่ของชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ หมายถึง สิ่งที่ประชาชนต้องปฏิบัติในฐานะที่เป็นคนไทย อาทิ หน้าที่ป้องกันประเทศ หน้าที่รับราชการทหาร หน้าที่ในการเรียกภาษีอากร ฯลฯ เป็นต้น

คู่กรณีบนความสัมพันธ์ของสิทธิทางเอกชน
คือ รัฐ กับ เอกชน อาจเรียกกฎหมายที่มีสิทธิทางเอกชนเป็นเครื่องมือในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนว่า กฎหมายมหาชน

ดังนั้น กฎหมายมหาชน (Public Law) ได้แก่ กฎข้อบังคับที่กำหนดสภาพและฐานะของผู้ปกครอง อำนาจกับหน้าที่ของผู้ปกครองและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง คือ รัฐ กับ ผู้ถูกปกครอง (คือ พลเมือง)

ตัวอย่างกลุ่มกฎหมายมหาชน
กฎหมายอาญา กฎหมายปกครอง กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายแรงงาน กฎหมายวิธีพิจารณาความ กฎหมายที่ดินเป็นต้น

ข้อสังเกต
กฎหมายระหว่างประเทศ เป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้กำหนดความสัมพันธ์ของบุคคลระหว่างประเทศ ซึ่งก็คือรัฐและองค์การระหว่างประเทศ(เช่น องค์การสหประชาชาติ) กฎหมายระหว่างประเทศเริ่มเกิดขึ้นในรูปของจารีตประเพณี และมีพัฒนาการมาเป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวคือ สนธิสัญญา

ลำดับศักดิ์กฎหมาย

กฎหมายมีลำดับศักดิ์สูงต่ำเสมือนสายบัญชาการ โดยกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่าย่อมเสมือนเป็นบ่อเกิดของอำนาจในกฎหมายลำดับรองลงมา โดยที่

1.กฎหมายที่ลำดับศักดิ์ต่ำกว่าจะขัดหรือแย้ง จะแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่าไม่ได้
2.กฎหมายที่ลำดับศักดิ์เท่ากันสามารถขัดหรือแย้ง แก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์เท่ากันได้ ทั้งนี้การขัดหรือแย้งกันของกฎหมายให้ถือเอากฎหมายฉบับล่าสุดมีผลบังคับใช้
3.กฎหมายที่ลำดับศักดิ์สูงกว่าสามารถยกเลิก แก้ไขเพิ่มเติม หรือขัดแย้งกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าได้ โดยกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่ามีอันตกไป ถ้าขัดแย้งกับกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่า


ลำดับศักดิ์กฎหมายสามารถเรียงได้ดังนี้
1.รัฐธรรมนูญ( เรียกว่ารัฐธรรมนูญอย่างเดียวไม่มีคำว่ากฎหมายขึ้นหน้ารัฐธรรมนูญ )
คือกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ ซึ่งได้กำหนดการจัดระบบการปกครองของประเทศ และรับรองสิทธิเสรีภาพบางประการของประชาชนหรือพลเมืองเอาไว้ อาจกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญเป็นแม่บทของกฎหมาย ซึ่งกฎหมายต่างๆที่บัญญัติขึ้นต้องใช้รัฐธรรมนูญเป็นกรอบหรือแนวทาง นั่นหมายความว่าการพัฒนาการของรัฐจะต้องเป็นไปตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ดังนั้น กฎหมายอื่นจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ กฎหมายใดที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญถือว่าใช้ไม่ได้ หรือไม่มีผลบังคับใช้

2.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญคือกฎหมายที่เป็นเรื่องสำคัญของรัฐธรรมนูญแต่ไม่สามารถบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจึงต่างออกไปจากพระราชบัญญัติทั่วไปเนื่องจากเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญและไม่สามารถบัญญัติรายละเอียด ในประเทศฝรั่งเศส พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีลำดับศักดิ์สูงกว่าพระราชบัญญัติทั่วไป (แต่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ) เนื่องจากมีกระบวนการตราที่ต่างออกไป ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก็ได้วางหลักการเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศส ดังนั้นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีลำดับศักดิ์สูงกว่าพระราชบัญญัติทั่วไป

ข้อสังเกต ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 นั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกับพระราชบัญญัติทั่วไปมีลำดับศักดิ์เท่ากัน เนื่องจากมีกระบวนการตราที่เหมือนกัน สามารถดูรายละเอียดและศึกษาเพิ่มเติมที่ คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ 2-5/2550

3.พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย พระราชกำหนด (อยู่ลำดับเดียวกัน)

3.1.การตราพระราชบัญญัติ
ผู้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ได้แก่ รัฐสภา โดยต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน แล้วจึงเสนอให้วุฒิสภาพิจารณา

1.การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาโดยแบ่งออกเป็น 3 วาระ คือ
วาระที่ 1 รับหลักการ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาเฉพาะ หลักการของร่างพระราชบัญญัติว่า เกี่ยวข้องกับเรื่องใดบ้าง มีความเหมาะสม จำเป็นหรือไม่ โดยไม่พิจารณารายละเอียดอื่น ๆ แล้วลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่ ถ้าไม่รับหลักการก็ตกไป ถ้ารับหลักการก็จะตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นพิจารณารายละเอียด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนมีสิทธิเสนอขอเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติม ต่อประธานคณะกรรมาธิการ เรียกว่า แปรญัตติ
วาระที่ 2 แปรญัตติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ที่มีการขอแปรญัตติ และลงมติเฉพาะมาตรานั้นว่าจะเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอ หรือคงไว้ตามเดิม
วาระที่ 3 ลงมติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมใด ๆ อีกไม่ได้ ถ้าไม่เห็นชอบก็ตกไป ถ้าเห็นชอบด้วยก็ส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป
2.การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของวุฒิสภา
วุฒิสภาจะพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติที่เสนอมา โดยแบ่งออกเป็น 3วาระ เช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร และโดยปกติแล้วจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน
ถ้าวุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบ ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อนและส่งคืนสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรจะยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อเวลา 180 วันได้ล่วงพ้นไป ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงินยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที ถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างพระราชบัญญัติเดิม ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

การตราร่างพระราชบัญญัติ
เมื่อร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ภายใน 20 วัน โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการร่างพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้น 90 วันแล้ว มิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภาลงมติยีนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ให้นายรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้า ฯ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับเป็นกฎหมายเสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

ข้อสังเกต: ประมวลกฎหมายคืออะไร
ประมวลกฎหมายคือการรวบรวมกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ตราขึ้นใช้บังคับ มีบทบัญญัติเกี่ยวข้องในเรื่องเดียวกัน คล้ายกันหรือมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน มีจำนวนหลายฉบับ จึงได้รวบรวมกฎหมายเหล่านี้ มาจัดเป็นหมวดหมู่ เป็นเรื่องเดียวกัน มีข้อความหรือบทบัญญัติเกี่ยวเนื่องต่อกันอย่างเป็นระเบียบ เพื่อสะดวกในการนำมาศึกษา ค้นคว้า นำมาใช้นำมาปรับปรุงแก้ไข ง่ายต่อการตีความวินิจฉัยในการตัดสินคดีความ

3.2.การตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)
เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ ทรงตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจบริหาร ให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ การตราพระราชกำหนดในกรณีดังกล่าว ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
แต่คณะรัฐมนตรีต้องเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า (เพราะสถานะที่แท้จริงของพระราชกำหนดคือพระราชบัญญัติ ดังนั้นกระบวนการตรากฎหมายดังกล่าวต้องผ่านองค์กรที่มีอำนาจเท่านั้น นั่นก็คือรัฐสภา) ดังนั้นต้องนำพระราชกำหนดเข้าสู่สภาผู้แทนฯ อีกครั้ง เพื่อให้สภาผู้แทนฯ พิจารณาว่าจะอนุมัติพระราชกำหนดให้มีผลบังคับได้เทียบเท่าพระราชบัญญัติต่อไปหรือไม่ ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ หรือ สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติแต่วุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกำหนดนั้นตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น
ข้อสังเกต
ตามมาตรา 185 รัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 ได้วางหลักการว่า การตราพระราชกำหนดของรัฐบาลจะต้องถูกตรวจสอบโดยเคร่งครัดจากศาลรัฐธรรมนูญ มิใช่ตามอำเภอใจของรัฐบาลอีกต่อไป ซึ่งมีสาระดังนี้
ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะได้อนุมัติพระราชกำหนดใด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าพระราชกำหนดนั้นไม่มีกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่เป็นกรณีที่รัฐบาลต้องการตราพระราชกำหนดเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของรัฐสภา
ประธานแห่งสภานั้นส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นเพื่อวินิจฉัย
หากศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด เห็นว่าพระราชกำหนดดังกล่าวนั้น รัฐบาลต้องการตราพระราชกำหนดเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของรัฐสภาจริง ให้พระราชกำหนดนั้นไม่มีผลบังคับมาแต่ต้น

4.พระราชกฤษฎีกา
คือ กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยแบ่งเป็น 2ประเภท
ประเภทแรกคือพระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นเพื่อกำหนดเนื้อหาของกฎหมายในรายละเอียด พระราชกฤษฎีกาในลักษณะนี้จะออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด เช่น พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสหการซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 เป็นต้น
พระราชกฤษฎีกาอีกประเภทหนึ่ง คือ พระราชกฤษฎีกาที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะเป็นพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดระเบียบการบริหารราชการหรือแบบพิธีบางอย่าง หรือเรื่องที่สำคัญบางเรื่องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เช่น พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น

5.กฎกระทรวง
คือ กฎหมายลูกบทที่ออกโดยรัฐมนตรี(ฝ่ายบริหาร)ตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายแม่บท(พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด หรือพระราชกฤษฎีกา)

6.กฎหมายองค์การบัญญัติ เช่น เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อบังคับตำบล เป็นต้น

การยกเลิกกฎหมาย

การยกเลิกกฎหมาย คือ การทำให้กฎหมายสิ้นสุดการบังคับใช้ ซึ่งกระทำได้ทั่งการยกเลิกโดยตรงและโดยปริยาย

1.การยกเลิกกฎหมายโดยตรง เป็นกรณีที่ที่มีกฎหมายระบุให้ยกเลิกไว้อย่างชัดแจ้งมีหลักเกณฑ์ดังนี้

1.1. กฎหมายนั้นกำหนดวันยกเลิกเอาไว้เอง เช่น บัญญัติเอาไว้ว่า “พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปเป็นเวลาหนึ่งปี” เมื่อครบกำหนด 1ปี กฎหมายนั้นก็สิ้นสุดการบังคับใช้ไปเอง

1.2. ออกกฎหมายใหม่มายกเลิก โดยกฎหมายฉบับใหม่ที่ออกมานั้นเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกัน และมีบทบัญญัติระบุให้ยกเลิก เช่น มาตรา3 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522

1.3. เมื่อรัฐสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนด พระราชกำหนดเมื่อประกาศใช้แล้ว จะต้องให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติอีกครั้งหนึ่ง ถ้ารัฐสภามีมติไม่อนุมัติ พระราชกำหนดนั้นก็จะสิ้นสุดการบังคับใช้


2.การยกเลิกกฎหมายโดยปริยาย

2.1. เมื่อกฎหมายใหม่และกฎหมายเก่ามีบทบัญญัติกรณีหนึ่งเป็นอย่างเดียวกัน ให้ใช้กฎหมายใหม่ ถือว่ากฎหมายเก่าถูกยกเลิกไปโดยปริยาย

2.2. เมื่อกฎหมายใหม่มีข้อความขัดแย้งกับกฎหมายเก่า ต้องใช้กฎหมายใหม่ และให้ถือว่าข้อความที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายใหม่นั้นถูกยกเลิกไปโดยปริยาย

2.3. กฎหมายแม่บทยกเลิกกฎหมายบริวารถูกยกเลิกด้วย กฎหมายบริวารหรือกฎหมายลูกที่ออกมาใช้โดยอาศัยกฎหมายแม่บท เมื่อกฎหมายแม่บทถูกยกเลิก ถือว่ากฎหมายบริวารถูกยกเลิกไปโดยปริยาย

การอุดช่องว่างของกฎหมาย

ช่องว่างของกฎหมาย หมายถึง กรณีที่ผู้ใช้กฎหมายไม่สามารถจะหาตัวบทกฎหมายปรับใช้กับดีที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากผู้ยกร่างอาจจะคาดไม่ถึง เพราะเหตุการณ์ยังไม่เคยเกิดขึ้น จึงไม่ได้บัญญัติไว้ จึงจำเป็นจะต้องมีวิธีการอุดช่องว่างของกฎหมาย

การอุดช่องว่างของกฎหมายตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 4 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดวิธีการอุดช่องว่างเอาไว้ว่า
เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ให้ใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งก็ให้ใช้หลักกฎหมายทั่วไป

สรุปการอุดช่องว่างของกฎหมายตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
1.ต้องพิจารณาตัวบทกฎหมายก่อน
2.เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น
3.ถ้าไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ให้ใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง
4. ถ้าไม่มีกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งก็ให้ใช้หลักกฎหมายทั่วไป

การอุดช่องว่างของกฎหมายตามกฎหมายอาญา

เนื่องจากกฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด ซึ่งหมายความว่า จะถือว่าการกระทำของบุคคลใดเป็นความผิดและลงโทษผู้กระทำผิดได้ จะต้องเป็นกฎหมายระบุไว้โดยชัดแจ้งเท่านั้น ดังนั้นกฎหมายอาญาจึงไม่มีการอุดช่องว่างกฎหมาย

การตีความกฎหมาย

การตีความกฎหมาย หมายถึง การค้นหาความหมายของถ้อยคำในตัวบทกฎหมายเพื่อนำไปปรับใช้กับข้อเท็จจริง ในกรณีที่ถ้อยคำในตัวบทกฎหมายไม่ชัดเจน เคลือบคลุมหรือมีความหมายได้หลายนัย จึงจำเป็นจะต้องมีการตีความกฎหมาย ซึ่งกระทำได้ 2 กรณี คือ การตีความตามตัวอักษร และการตีความตามเจตนารมณ์

1.การตีความตามตัวอักษร เป็นการค้นหาความหมายจากตัวอักษรของกฎหมาย มีหลักเกณฑ์ดังนี้

1.1. กรณีที่เป็นภาษาสามัญ ต้องตีความหมายอย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไปตามธรรมดาสามัญ หรือให้ถือเอาตามพจนานุกรม

1.2. กรณีที่กฎหมายประสงค์จะให้มีความหมายพิเศษไปจากที่เข้าใจกันตามธรรมดาสามัญ ในกฎหมายนั้นจะทำบทวิเคราะห์ศัพท์หรือนิยามไว้ในมาตราแรก ๆ ก็ต้องถือเอาความหมายตามบทวิเคราะห์ศัพท์หรือนิยามนั้น เช่น ประมวลกฎหมายอาญา บทนิยาม มาตรา 1 (1) บัญญัติว่า "โดยทุจริต" หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

2.การตีความหมายตามเจตนารมณ์ เป็นการตีความเพื่อหยั่งทราบความมุ่งหมายหรือความต้องการของกฎหมายนั้น ๆ ซึ่งมีสิ่งที่จะต้องพิจารณา คือ คำปรารภ หมายเหตุท้ายมาตราต่าง ๆ รายงานการประชุมยกร่างกฎหมายนั้น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะบอกได้ว่า เพราะเหตุใด หรือ ต้องการอะไร จึงบัญญัติกฎหมายไว้เช่นนี้


ข้อสังเกต

กฎหมายอาญา จัดเป็นกฎหมายที่มีโทษรุนแรงกระทบกระเทือนสิทธิ เสรีภาพของประชาชน การตีความกฎหมายอาญาจึงต้องมีลักษณะพิเศษดังนี้

1. กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด หมายความว่า บุคคลใดที่จะต้องรับผิดตามกฎหมายอาญา จะต้องปรากฏว่า มีกฎหมายระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด

2. กฎหมายอาญาจะตีความให้เป็นผลร้ายแก่บุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัยไม่ได้ กล่าวคือ จะตีความขยายความให้เป็นการลงโทษ หรือเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดให้หนักขึ้นไม่ได้

3. กรณีเป็นที่สงสัย จะต้องตีความในบางทีเป็นผลดีแก่ผู้กระทำความผิด กล่าวคือ ถ้าพยานหลักฐานไม่ชัดเจน ยังเป็นที่เคลือบคลุม ยังสงสัย หรือไม่แน่ใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่ ต้องยกประโยชน์ให้จำเลย ถือว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งเป็นไปตามสุภาษิตทางกฎหมายที่ว่า “ปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าการที่จะลงโทษคนบริสุทธิ์คนเดียว”

ความหมายของ "กฎหมาย"

กฎหมายเป็นกฎที่สถาบันหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐตราขึ้น หรือที่เกิดขึ้นจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม และใช้กำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือระหว่างบุคคลกับรัฐ

องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้กฎหมายมีสภาพแตกต่างจากศีลธรรมก็คือ กฎหมายจะต้องเป็นคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ที่มีสภาพบังคับให้ต้องกระทำตามกฎหมาย หากผู้ใดฝ่าฝืน ตามธรรมดาย่อมต้องโทษ

นิยามของคำว่ากฎหมายดังกล่าวข้างต้นได้รับอิทธิพลจาก “สำนักกฎหมายบ้านเมือง (Positive Law School)” ซึ่งมีเชื่อว่า “กฎหมายนั้นคือคำสั่งของรัฐ” โดย Thomas Hobbes นักปรัชญาเมธีคนสำคัญของสำนักกฎหมายบ้านเมืองได้อธิบายว่า “การอยู่ร่วมกันในสังคมเกิดจาก การที่แต่ละคนมีลักษณะเดียรฉานที่มีการทำร้ายต่อสู้กันตลอดเวลา

ดังนั้นประชาชนจึงทำสัญญาประชาคมยกอำนาจให้รัฏฐาธิปัตย์ และการมอบอำนาจของเขาเป็นการมอบอำนาจแบบสวามิภักดิ์ คือ มอบอำนาจให้รัฏฐาธิปัตย์โดยเด็ดขาด”

ทั้งนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์) พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ซึ่งได้รับการศึกษาวิชากฎหมายจากประเทศอังกฤษ จึงได้นำแนวคิดนี้สู่โรงเรียนกฎหมายไทย โดยพระองค์ฯ ได้อธิบายนิยามของกฎหมายไว้ว่า “เราจะต้องระวังอย่าคิดเอากฎหมายไปปนกับความดีความชั่วฤาความยุติธรรม กฎหมายเป็นคำสั่งเป็นแบบที่เราจะต้องประพฤติตาม แต่กฎหมายนั้นบางทีก็จะชั่วได้ ฤาไม่ยุติธรรมก็ได้ ความคิดว่าอะไรดี อะไรชั่วฤา อะไรเป็นยุติธรรม อะไรไม่ยุติธรรม มีบ่อที่จะเกิดขึ้นหลายแห่ง เช่นตามศาสนาต่าง ๆ แต่กฎหมายนั้นเกิดขึ้นได้แห่งเดียว คือจากผู้ปกครองแผ่นดิน ฤาที่ผู้ปกครองแผ่นดินอนุญาตเท่านั้น”

ดังนั้น สามารถสรุปลักษณะที่สำคัญของกฎหมายตามแนวคิดสำนักกฎหมายบ้านเมืองได้ดังนี้

1. ต้องเป็นกฎเกณฑ์ที่เป็นแบบแผน (Norm) กล่าวคือ เป็นกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความประพฤติของคนในสังคม ใช้เป็นเครื่องชี้วัดได้ว่าการกระทำอย่างไร ผิดหรือถูก

2. กฎหมายต้องเป็นกฎเกณฑ์ที่มีกระบวนการบังคับใช้ที่เป็นกิจจะลักษณะ คือ มีการกำหนดบทลงโทษ


นอกจากสำนักกฎหมายบ้านเมืองแล้ว ยังมีสำนักแนวคิดทางกฎหมายอีกหลายสำนักได้ให้คำนิยามของคำว่ากฎหมายไว้ โดยสำนักความคิดทางกฎหมายอื่น ๆ ที่มีความสำคัญ เช่น


สำนักกฎหมายธรรมชาติ(School of Natural Law)

แนวคิดนี้เชื่อว่า กฎหมายมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ (harmonious with nature) มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้สร้างกฎหมาย (Enacted Law) กฎหมายที่ดีต้องไม่ละเมิดกฎของพระเจ้า มีลักษณะคงทนถาวร ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร Cicero นักปรัชญาเมธีสำคัญของสำนักกฎหมายธรรมชาติ เคยกล่าววลีที่เสมือนรากฐานของแนวคิดนี้ว่า "True Law is right reason, harmonious with nature, diffuse among all, constant, eternal..." ดังนั้น การใช้กฎหมายย่อมเป็นไปตามเหตุผลที่เป็นธรรมชาติตามปกติ ผู้มีอำนาจไม่มีสิทธิสร้างความยุติธรรมโดยกฎหมายของตนเองได้
ข้อควรรู้ สำนักกฎหมายบ้านเมืองเกิดขึ้นภายหลังสำนักกฎหมายธรรมชาติ สำนักกฎหมายบ้านเมืองเกิดยุคที่ยุโรปเริ่มจัดทำกฎหมายในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมัน มีนักปรัชญาหลายท่านปฏิเสธหลักกฎหมายธรรมชาติ และสร้างหลักที่ว่ามนุษย์ต่างหากเป็นผู้สร้างกฎหมายขึ้นบังคับใช้ในสังคม

สำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ (School of History Law)

แนวคิดนี้เชื่อว่า“กฎหมายคือผลผลิตจากความเป็นไปในทางประวัติศาสตร์” ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา สิ่งสำคัญอีกประการคือระบบกฎหมายต้องมีลักษณะกลมกลืนและสอดคล้องกับระบบการเมืองการปกครองและระบบเศรษฐกิจ

สำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นควบคู่กับสำนักกฎหมายบ้านเมือง ประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ไม่ยอมรับหลักที่ว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างกฎหมาย แต่กฎหมายนั้นเกิดขึ้นจาก “จิตใจของประชาชาติ” (Volksgeist) ซึ่งหมายถึงความรู้สึกนึกคิดของชนชาติตั้งแต่ดั้งเดิมเริ่มต้นก่อตั้งชาตินั้นและวิวัฒนาการไปตามกาลเวลา กฎหมายจึงเป็นผลผลิตจากความเป็นไปในทางประวัติศาสตร์

บรรทัดฐานทางสังคม

บรรทัดฐานทางสังคม คือ แบบแผนกฎเกณฑ์ข้อบังคับหรือมาตรฐานในการปฏิบัติของคนในสังคม เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ได้แก่ กฎ ระเบียบ แบบแผนความประพฤติต่าง ๆ.

ความสำคัญของบรรทัดฐานต่อการจัดระเบียบทางสังคม คือ เป็นแนวทางในการกำหนดพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมและให้มีความเข้าใจร่วมกัน อันจะทำให้มีการประพฤติปฏิบัติในแนวเดียวกัน

ประเภทของบรรทัดฐานทางสังคมสามารถแบ่งได้ 3 ประเภท

1. วิถีชาวบ้านหรือวิถีประชา (Folkways)
เป็นแนวทางปฏิบัติของทุกคนจนเกิดความเคยชินจน กลายเป็นชีวิตปกติของมนุษย์ เป็นการปฏิบัติด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ ไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน เพียงแต่อาจจะถูกตำหนิเยาะเย้ยถากถาง หรือการนินทาจากผู้อื่นทำให้สมาชิกต้องปฏิบัติตามและวิถีประชาอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อปรับเหมาะกับยุคสมัยนั้นๆ เช่น มารยามในการแต่งกาย มารยาทในการรับประทานอาหาร เป็นต้น

2.จารีตประเพณี (Morals)
เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อสังคม หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกตำหนิ ดูหมิ่นเหยียดหยามจากสังคม เช่น ชายและหญิงต้องเข้าพิธีมงคลสมรสตามประเพณี เป็นต้น จารีตประเพณีต่างกับวิถีประชาเพราะมีศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวด้วย มีข้อห้ามและข้อควรกระทำหากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกสังคมประณามอย่างรุนแรง กฎศีลธรรมมักเป็นข้อห้าม เป็นกฎข้อบังคับ และมีเรื่องของศีลธรรมความรับผิดชอบชั่วดีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมาก

ตัวอย่างของกฎศีลธรรมหรือจารีตของไทย เช่น ลูกจะด่าทอ หรือทำร้ายพ่อแม่ไม่ได้

3.กฎหมาย (Laws)
กฎเกณฑ์หรือข้อบังคับที่รัฐบัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรโดยองค์การทางการเมืองการปกครองและได้รับการรับรองจากองค์การของรัฐ เพื่อควบคุมบุคคลในสังคม หากผู้ใดฝ่าฝืนย่อมได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ได้แก่ ระเบียบ ข้อบังคับ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา และพระราชบัญญัติ หากผู้ใดฝ่าฝืน ตามปกติย่อมถูกลงโทษตามที่กำหนดไว้

ที่ใดมีสังคม ที่นั่นย่อมมีกฎหมาย (Ubi societas , ibi jus)

สุภาษิตละตินที่กล่าวว่า “ที่ใดมีสังคม ที่นั่นย่อมมีกฎหมาย” ย่อมแสดงนัยยะที่ว่า สังคมย่อมเกิดก่อนกฎหมาย เมื่อไม่มีสังคมก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมาย

กฎหมายถูกสร้างขึ้น เมื่อมนุษย์ได้มีการรวมตัวกันและมีการปฏิสัมพันธ์กันเป็นสังคม กฎหมายจึงเป็นเสมือนหลักเกณฑ์กลางที่ให้ผู้ที่อยู่ในสังคมนั้นยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ อันจะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสงบสุข ดังคำสุภาษิตละตินที่ว่าที่ไหนมีสังคมที่นั่นมีกฎหมาย (Ubi societus ibi ius)


สังคมคืออะไร

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ.2524 ให้ความหมายของคำว่า สังคม (Society) ดังนี้ สังคมคือ คนจำนวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตามระเบียบ กฎเกณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญร่วมกัน

อีกทั้ง ยังมีนักสังคมวิทยาหลายท่านได้อธิบายความของคำว่าสังคมไว้ ที่น่าสนใจมีดังนี้

สังคมได้แก่พื้นที่ที่มีประชากรซึ่งอยู่ในสปีชีเดียวกัน มีความสัมพันธ์และพึ่งพาอาศัยกันและเป็นรูปองค์การที่เป็นอิสระจากองค์การอื่น ๆ

สังคม คือ ประชาชนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในดินแดนใดดินแดนหนึ่งและมีประเพณี วัฒนธรรมที่เหมือนกัน สังคมเป็นเรื่องเกี่ยวกับประชาชนที่มีการกระทำระหว่างกันต่อกันภายในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งและมีวัฒนธรรมอันหนึ่งร่วมกัน

ไม่ว่าคำว่า สังคม จะถูกนิยามให้ความหมายอย่างไร สังคมยังคงประกอบไปด้วยลักษณะสำคัญดังนี้

1.ภายในสังคมมีวัฒนธรรม มีภาษา วิถีชีวิต และความเชื่ออย่างเดียวกัน การที่อยู่ร่วมกันในสภาพแวดล้อมเดียวกันนั้นทำให้มีการพัฒนาไปสู่การสร้างเอกลักษณ์ (เช่น ภาษา การแต่งกาย มารยาทและศาสนา ฯลฯ) ที่มีความแตกต่างจากสังคมอื่น

2.สังคมเกิดจากการรวมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งสามารถเลี้ยงดูตนเอง มีการประกอบอาชีพและประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้เป็นของตนเองได้

3.มีบรรทัดฐานทางสังคม ระเบียบกฎเกณฑ์ (เช่น กฎหมาย ข้อบังคับ) ในการควบคุมสมาชิก เพื่อทำให้สังคมเกิดความสงบสุข
เมื่อมีการอยู่ร่วมกันจึงมีการปฏิสัมพันธ์ ติดต่อกัน ซึ่งบางครั้งก็เป็นไปโดยความราบรื่น แต่ท้ายที่สุด คนยังไงก็คือคนวันยังค่ำ คนในความหมายของทางศาสนา หมายถึงอะไรที่มีความวุ่นวาย ไม่ลงรอย เช่นนี้ การติดต่อในบางครั้งจึงไม่ได้เป็นไปโดยราบรื่นเกิดข้อพิพาทโต้แย้งระหว่างกัน นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคน ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าตัวเองถูก ... แล้วอะไรจะเป็นที่ยุติว่า สิ่งนี้ถูก หรือ สิ่งนี้ผิด คำตอบก็คือ บรรทัดฐานทางสังคม ไงครับ

ข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้สอบเข้าคณะนิติศาสตร์

แนะนำเบื้องต้นก่อนเข้าสู่เนื้อหากฎหมาย

ในการแนะนำความรู้เบื้องต้นทางกฎหมายนั้น มีวัตถุประสงค์ให้น้องทำความคุ้นเคยกับภาพรวมของกฎหมาย รู้ว่ากฎหมายเกิดขึ้นมาเพราะอะไร รู้ถึงประโยชน์ของกฎหมาย ทำให้ในภายหน้า น้องจะมีความเข้าใจในความหมายหรือถ้อยคำต่างๆ ที่บางคำอาจเป็นศัพท์กฎหมาย ซึ่งเป็นศัพท์เชิงเทคนิค (Technical term) ที่มีความยากต่อการทำความเข้าใจ กฎหมายเป็นสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์ที่ได้รับการกล่าวขานจากผู้เรียนว่ามีความยากระดับพระกาฬ แต่เชื่อผู้เขียนเถอะว่า ไม่มีสิ่งใดที่ยากเกินความสามารถของมนุษย์ หากเราได้ทุ่มเทกับสิ่งใดแล้ว ความสำเร็จ คงอยู่ใกล้แค่เอื้อมมือ

เราจะเริ่มเรียนกฎหมายจากส่วนใดก่อน

เริ่มแรก เราต้องทราบก่อนว่า กฎหมายนั้นคืออะไร ต่อมา ต้องรู้ว่า กฎหมายมีหน้าที่อย่างไรในสังคม หลังจากนั้น ต้องเข้าใจถึงการเกิดขึ้นของกฎหมาย ประเภทของกฎหมายมีอะไรบ้าง และมีกรณีใดบ้างที่ทำให้กฎหมายสิ้นสุดลง เมื่อทราบเรื่องต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว ต่อมา น้อง ๆ ต้องทราบอีกว่า การใช้กฎหมายมีปัญหาอย่างไร และมีกระบวนการใดที่จะเข้ามาช่วย เช่น การอุดช่องว่างกฎหมาย(ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายบังคับใช้) การตีความกฎหมาย(กรณีที่ถ้อยคำในกฎหมายไม่ชัดเจน) ต่อไปน้อง ๆ ต้อง ทราบถึง ระบบกฎหมายโลก ว่ามีกี่ระบบที่สำคัญ และประเทศไทยใช้ระบบกฎหมายแบบใด เรื่องสุดท้ายที่ต้องทราบก็คือ ความหมายของ สิทธิ หน้าที่ ความรับผิด เสรีภาพ