คู่มือเตรียมสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ สอบตรง ภาคบัณฑิต (208 หน้า)

*** ชี้แจงโครงการ “ติวเข้มสอบเข้านิติศาสตร์ สอบตรง & ภาคบัณฑิต ปี 2557” by TutorlawGroup

โครงการ “ติวเข้มสอบเข้านิติศาสตร์ สอบตรง & ภาคบัณฑิต ปี 2557” by TutorlawGroup สวัสดีครับทุกท่าน
ในช่วงนี้ทุกคนคงกำลังเตรียมตัวที่จะสอบข้อเขียน โครงการนิติศาสตร์ สอบตรง & ภาคบัณฑิต และเพื่อเป็นแรงผลักดันทุกท่านที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ สามารถสอบเข้าให้ได้ตามที่มุ่งหวังไว้ TutorlawGroup จึงจัดโครงการ “ติวเข้มสอบเข้านิติศาสตร์ สอบตรง & ภาคบัณฑิต ปี 2557” เหมือนเช่นทุกปี
กำหนดการติวเข้มสอบเข้านิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (สอบตรง)57 เหลือรอบเดียวคือ เรียนวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2556 และ วันเสาร์ที่ 8 มกราคม 2557 เวลา 08.30 – 13.00 น. สอบวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2557 องค์ประกอบวิชาและค่าน้าหนักแต่ละวิชาที่ใช้ในการสอบคัดเลือก (สอบข้อเขียน) รวม 100 คะแนน ดังนี้ 1. วิชาความถนัดทั่วไป (GAT รหัส 85) 30 % 2. วิชาภาษาอังกฤษ 10 % 3. วิชาเฉพาะ 60 % 3.1 วิชาความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมาย 10 % 3.2 วิชาความสามารถในการใช้เหตุผลทางกฎหมาย 30 % 3.3 วิชาเรียงความ 10 % 3.4 วิชาย่อความ 10 %
ส่วนการสอบเข้าโครงการนิติศาสตร์ ภาคบัณฑิต ของผู้จบปริญญาตรีสาขาอื่นมาแล้วนั้น ของทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีความแตกต่างดังนี้ กำหนดการติวเข้มสอบเข้านิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ & จุฬา (ภาคบัณฑิต)2557 รอบแรก เดือนกุมภาพันธ์ 57 เรียนวันเสาร์ที่ 8 และ 15เวลา 08.30 – 13.00 น. รอบที่สอง เดือนมีนาคม 57 เรียนวันเสาร์ที่ 8 และ 15 เวลา 08.30 – 13.00 น.
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นิติ ธรรมศาสตร์ ภาคบัณฑิต เปิดรับสมัคร 1 ตุลาคม 2556 – 31 มกราคม 2557 สอบวันที่ 30 มีนาคม 2557 1. ความรู้ทั่วไป 20 ข้อ 20 คะแนน 2. ความสามารถในการใช้เหตุผลทางกฎหมาย 15 ข้อ 30 คะแนน 3. ย่อความ 1 ข้อ 25 คะแนน 4. เรียงความ 1 ข้อ 25 คะแนน คลิ๊กเพื่อดูกำหนดการสอบนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต ธรรมศาสตร์ ปี 2556
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – ข้อสอบอัตนัย (ข้อเขียน) ประมาณ 3 – 4 ข้อ และข้อสอบเรียงความ ย่อความ
คลิ๊กเพื่อดู กำหนดการสอบ ภาคบัณฑิต จุฬา ปี 2556 !!!
นิติ จุฬา ภาคบัณฑิต เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ ถึง 30 เมษายน 2557 สอบวันที่ 11 พฤษภาคม 2557 ความสามารถในการใช้เหตุผลทางกฎหมาย ย่อความ เรียงความ 100 คะแนน ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมโทร 0859913533

คลังความรู้สำหรับสอบเข้าคณะนิติศาสตร์

วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2551

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างแรก (ตอนที่10)

ผู้อ่านที่ติดตามมาตลอดคงจำได้ขึ้นใจแล้วว่า

บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาต่อเมื่อ

โครงสร้างแรก การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ
โครงสร้างสอง การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด
โครงสร้างสาม การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ

ซึ่งทั้งสามโครงสร้างนี้เรียกว่า“โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา”

และตอนนี้ ... ผมได้อธิบายมาถึงโครงสร้างแรก ซึ่งประกอบด้วย 4 องค์ประกอบดังนี้
1.มีการกระทำ
2.การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายนอก
3.การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายใน
4.มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

ผมได้อธิบายองค์ประกอบที่ 1 2 และ 3 แล้ว

------

ต่อไปผมจะอธิบายองค์ประกอบที่ 4 การกระทำสัมพันธ์กับผลของการกระทำ

ในกรณีที่เป็นความผิดซึ่งสามารถแยกผลออกจากการกระทำได้นี้ เมื่อมีผลของการกระทำเกิดขึ้น ผู้กระทำจะต้องรับผิดในผลหรือไม่ มีหลักคือ

1. ถ้าผลนั้นเป็นผลโดยตรงผู้กระทำจะต้องรับผิดในผลนั้น ถ้าผลนั้นไม่ใช่ผลโดยตรงผู้กระทำก็ไม่ต้องรับผิดในผลนั้น ซึ่งในทางกฎหมายใช้ทฤษฎีเงื่อนไขมาอธิบาย อาจอธิบายได้ว่า ถ้าไม่มีการกระทำของจำเลยผลก็ไม่เกิดขึ้น จึงต้องถือว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุของผลนั้น

หากนายเอกใช้ไม้ตีนายโทที่หัว – หากนายเอกไม่ตี นายโทก็ไม่บาดเจ็บ ดังนั้นนายเอกจึงมีความผิดฐานทำร้ายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย

2. ถ้าผลโดยตรงทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผลโดยตรงนั้นจะต้องเป็นผลธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย ถ้าเป็นผลผิดธรรมดาผู้กระทำก็ไม่ต้องรับผิดในผลที่ทำให้ตนต้องรับโทษหนักขึ้นนั้น

เช่น กฎหมายอาญาฐานทำร้ายร่างกายวางหลักว่า “ผู้ใดทำร้ายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ … ต้องระวางโทษ …”

แต่หากว่าการทำร้ายร่างกายนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส(เช่นตาบอด, มือขาด, แขนขาด) ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น
หากนายเอกใช้ไม้ตีนายโทที่หัว – นายโทได้รับบาดเจ็บหัวแตกเย็บ 1 เข็ม นายเอกมีความผิดทำร้ายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย

หากนายโทตาบอด – ต้องพิจารณาว่า หากนายเอกไม่ตีนายโทคงไม่บาดเจ็บและตาบอด อีกทั้งการตาบอดนั้น วิญญูชน(บุคคลทั่วไปในสังคม)พึงคาดหมายได้ว่าหัวเป็นศูนย์รวมประสาท หากตีไปที่หัว ผู้เสียหายอาจตาบอดได้ จึงเป็นผลธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้ นายเอกจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสซึ่งมีระวางโทษหนักกว่าความผิดฐานทำร้ายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย

3.ถ้าผลโดยตรงนั้นไม่ใช่ผลที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น แต่เป็นผลที่เกิดจากเหตุแทรกแซง ผู้กระทำจะต้องรับผิดในผลบั้นปลายที่เกิดจากเหตุแทรกแซงนั้นก็ต่อเมื่อผลในบั้นปลายเกิดจากเหตุแทรกแซงที่วิญญูชนคาดหมายได้ ถ้าวิญญูชนคาดหมายไม่ได้ผู้กระทำก็ไม่ต้องรับผิดในผลบั้นปลายนั้น

เช่น นายเอกใช้ปืนปลอมเล็งยิงนั้นแล้วนายโทตกใจกลัวจนถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของนายเอกป็นผลโดยตรงจากนายเอกกระทำความผิดเพราะนายเอกไม่ใช้ปืนปลอมขึ้นเล็งความตายของนายโทก็จะไม่เกิด ต้องถือว่าความตายเกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงจากนายเอกกระทำความผิดและต้องถือว่าเป็นเหตุแซกแชงที่เกิดจากตัวผู้เสียเป็นเหตุอันควรคาดหมายได้เพราะผู้ใดโดนปืนจ่อยิงย่อมต้องตกใจเป็นธรรมดา ดังนั้นนายเอกจึงต้องรับผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา



.

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างแรก (ตอนที่9)

การกระทำโดยประมาทเป็นความผิดได้หรือไม่

เมื่อกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำความโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท”

ดังนั้น บุคคลใดจะต้องรับผิดทางอาญาจะต้องปรากฏว่า บุคคลนั้นกระทำโดยเจตนา ไม่ว่าเจตนาตามความเป็นจริง(เจตนาประสงค์หรือเล็งเห็นผล) หรือเจตนาโดยผลของกฎหมาย(เจตนาโดยพลาด)

หากบุคคลนั้นกระทำโดยประมาท โดยปกติแล้วไม่ต้องรับผิดทางอาญา เช่นประมาททำให้เสียทรัพย์ อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาทเช่น ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือ ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสเป็นต้น ในกรณีเช่นนี้ บุคคลนั้นต้องรับผิด แม้กระทำโดยประมาท

หลักของประมาทโดยสรุปคือ

การกระทำโดยมิได้เจตนาแต่ปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีความระมัดระวังตามวิสัย และพฤติการณ์ ซึ่งระดับความระมัดระวังนั้นไม่อยู่นิ่งตายตัวขึ้นและลงตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์

เช่น ขณะที่นายเอกอยู่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง นายเอกได้หยิบปืนขึ้นมาทำความสะอาด ขัดถูไป ขัดถูมา ปรากฏว่าปืนลั่นไปถูกนายดำตาย และกระสุนยังแฉลบไปโดนนาฬิกาของบริษัท นาฬิกาสวย จำกัด เรือนละล้านบาท ทำให้นาฬิกาแตกละเอียด

ถามว่านายเอกมีการกระทำหรือไม่ ต้องตอบว่ามี เพราะว่า นายเอกหยิบปืนขึ้นมาทำความสะอาดโดยรู้สึก

แต่การกระทำนั้น ไม่มีเจตนา(ทั้งเจตนาประสงค์หรือเล็งเห็นผล)ที่จะทำให้นายดำตาย หรือไม่มีเจตนาทำให้นาฬิกาของบริษัท นาฬิกาสวย จำกัดแตก

แต่ความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการกระทำของนายเอกที่ปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะวิสัย และพฤติการณ์เช่นเดียวกับนายเอกคงไม่นำปืนหยิบขึ้นมาขัดถูไปมาในขณะอยู่ที่ศูนย์การค้าซึ่งมีคนจำนวนมาก

ดังนั้นนายเอกจึงต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แต่นายเอกไม่ต้องรับผิดประมาททำให้เสียทรัพย์เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด

วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างแรก (ตอนที่8)

จากโครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างแรก (ตอนที่7) สามารถสรุปได้ว่า เจตนาแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1.เจตนาตามความเป็นจริง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1.1.เจตนาโดยประสงค์ต่อผล
1.2.เจตนาย่อมเล็งเห็นผล
2.เจตนาโดยผลของกฎหมาย หรือเรียกว่า เจตนาโดยพลาด

-----------------------------------------------------------------------------------

หลักต่อมาที่ต้องพิจารณาคือ
“ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้”

อาจสรุปเป็นหลักสั้น ๆ ได้ว่า

“ไม่รู้(องค์ประกอบภายนอกของความผิด) ไม่มีเจตนา”

กรณีที่ 1. นายเอกไปซ้อมยิงปืนที่ป่าช้าแห่งหนึ่ง โดยใช้โลงศพเก่ามาทำเป็นเป้ายิงปืน เมื่อนายเอกเริ่มซ้อมยิงปืน ปรากฏว่ามีสับปะเหร่อนอนอยู่ในนั้น กระสุนของนายเอกจึงไปถูกสัปเหร่อตายคาที่ เช่นนี้ นายเอกไม่รู้ว่าข้างในนั้นเป็นคน จึงไม่ทราบว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการฆ่าผู้อื่น จึงเป็นกรณีที่นายเอกมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิด ดังนั้นจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้ นายเอกจึงไม่มีเจตนา เมื่อนายเอกไม่มีเจตนาแล้วจึงขาดองค์ประกอบที่ต้องรับผิดในทางอาญาแล้วจึงขาดองค์ประกอบที่ต้องรับผิดในทางอาญา

กรณีที่ 2. นายเอกเข้าไปบ้านนายโทเพื่อร่วมฉลองงานวันเกิดของนายโท ระหว่างที่นายเอกเต้นนั้น นายเอกทำแหวนตก ตอนใกล้เวลากลับบ้าน นายเอกรู้ตัวว่าทำแหวนตกจึงรีบทำการค้นหา แต่นายเอกพบแหวนของนายโทวางอยู่ นายเอกคิดว่าเป็นของตน จึงหยิบเอามา เช่นนี้ นายเอกไม่รู้ว่าแหวนนั้นเป็นของผู้อื่น (นายเอกคิดว่าเป็นของตน) จึงไม่ทราบว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการลักทรัพย์ของผู้อื่น จึงเป็นกรณีที่นายเอกมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิด(ฐานลักทรัพย์) ดังนั้นจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้ นายเอกจึงไม่มีเจตนา เมื่อนายเอกไม่มีเจตนาแล้วจึงขาดองค์ประกอบที่ต้องรับผิดในทางอาญา

วันศุกร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2551

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างแรก (ตอนที่7)

ก่อนที่จะอธิบายต่อ ผมขออธิบายเรื่องเดิมเน้นย้ำอีกครั้งว่า

บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาต่อเมื่อ

โครงสร้างแรก การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ
โครงสร้างสอง การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด
โครงสร้างสาม การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ

ซึ่งทั้งสามโครงสร้างนี้เรียกว่า“โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา”

และตอนนี้ ... ผมได้อธิบายมาถึงโครงสร้างแรก

แต่ที่เคยบอกแล้วว่า โครงสร้างแรกนั้นประกอบด้วย 4 องค์ประกอบดังนี้
1.มีการกระทำ
2.การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายนอก
3.การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายใน
4.มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

ผมได้อธิบายองค์ประกอบที่ 1 และ 2 แล้ว

------

ต่อไปผมจะอธิบายองค์ประกอบที่ 3 การกระทำนั้นต้องครบองค์ประกอบภายใน

องค์ประกอบภายใน ตามหลักกฎหมาย คือ เรื่องเจตนา ครับ

เจตนาตามกฎหมายอาญาสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. เจตนาตามความเป็นจริง คือเจตนาประสงค์ต่อผล, เจตนาย่อมเล็งเห็นผล

1.1 เจตนาประเภทประสงค์ต่อผล ทางตำราเรียกว่า “เจตนาโดยตรง” ประสงค์ต่อผลหมายความว่ามุ่งหมายจะให้เกิดผล ถ้าเกิดผลก็เป็นความผิดสำเร็จ ถ้าผลไม่เกิดก็เป็นผิดพยายาม

ตัวอย่าง
แดงต้องการทำลายแจกันใบละล้านของนายเด่น แดงจึงแกล้งทำเป็นชนแจกันนั้นตกลงมาแตก เช่นนี้นายแดงเจตนาประสงค์ต่อการทำให้เสียทรัพย์ของนายเด่น

1.2 เจตนาเล็งเห็นผล “เจตนาโดยอ้อม” คือเล็งเห็นว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เท่าที่จิตใจของบุคคลในฐานะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้

ตัวอย่าง
แดงต้องการฆ่าดำ แดงใช้ปืนยิงดำซึ่งยืนติดกับขาวปืนที่ใช้เป็นปืนลูกซอง กระสุนถูกดำและแผ่กระจายไปถูกขาว ทั้งดำและขาว ตาย ในกรณีเช่นนี้เมื่อนายแดงต้องการฆ่าดำ นายแดงจึงมีเจตนาประเภทประสงค์ต่อผลต่อนายดำ แต่การฆ่านายดำโดยใช้ปืนลูกซองนั้น นายแดงย่อมเล็งเห็นว่ากระสุนของปืนลูกซองจะต้องแผ่กระจายไปยังบุคคลที่อยู่ใกล้เคียงอย่างแน่นอน นายแดงจึงมีเจตนาประเภทเล็งเห็นผลต่อนายขาว

ตัวอย่าง
นายแดงนั่งกินไวน์ราคาขวดละ 18 ล้านบาท ที่โต๊ะหินอ่อนหน้าบ้าน ขวดไวน์ตั้งอยู่ข้างหน้านายแดง นายแดงเห็นนายขาวและนายดำเดินผ่านมา ด้วยความสนิทกับนายขาว นายแดงจึงเรียกนายขาวดื่มไวน์เพียงคนเดียว นายดำจึงรู้สึกอิจฉามากที่ไม่ได้กินไวน์

นายดำจึงนำปืนลูกซองที่บ้านของตนมาซุ่มยิงขวดไวน์ทิ้ง แต่เมื่อยิงขวดไวน์แล้ว กระสุนกลับกระจายไปโดนนายแดงและนายขาวตายคาที่ เช่นนี้นายดำจึงมีเจตนาประเภทประสงค์ต่อทรัพย์ต่อนายแดง (ต้องการยิงขวดไวน์) แต่นายดำย่อมเล็งเห็นว่ากระสุนของปืนลูกซองจะต้องแผ่กระจายไปยังบุคคลที่อยู่ใกล้เคียงอย่างแน่นอน นายแดงจึงมีเจตนาประเภทเล็งเห็นผลต่อนายแดงและนายขาว

2. เจตนาโดยผลของกฎหมาย คือการกระทำโดยพลาด
กฎหมายอาญาวางหลักว่า “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นเพราะฐานะของบุคคล หรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น”
โปรดสังเกตคำว่า “ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนา” ซึ่งอธิบายได้ว่า ที่จริงแล้วการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นเจตนาเพราะการพิจารณาว่าบุคคลใดกระทำโดยเจตนาหรือไม่ให้พิจารณาว่าบุคคลนั้นกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผลหรือเจตนาย่อมเล็งเห็นต่อผล แต่เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้ที่ได้รับผลร้าย กฎหมายจึงให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนา จึงอาจเรียกได้ว่าเป็น “เจตนาโดยผลของกฎหมาย”

ตัวอย่างประกอบการพิจารณาเรื่องเจตนาโดยพลาด

กรณีที่ 1.

นายแดงซุ่มยิงนายขาว เมื่อนายขาวเดินมา นายแดงลั่นไกปืน แต่ด้วยความโชคร้าย นายขาวหลบไม่ทัน กระสุนกลับไปเฉี่ยวไปถูกหน้าอกของนายขาว นายขาวตายคาที่ และกระสุนได้แฉลบไปถูกนายดำที่นั่งกินก๋วยเตี๋ยวอยู่ ตายคาที่เช่นกัน เช่นนี้ นายแดงกระทำความผิดฐานฆ่านายขาวโดยประสงค์ต่อผล ส่วนนายแดงต้องรับโทษต่อนายดำหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่า นายแดงเจตนาประสงค์ หรือ เล็งต่อผล ต่อนายดำหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า นายแดงไม่มีเจตนาประสงค์ หรือ เล็งต่อผลเลย อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น ดังนั้นจึงถือว่านายแดงมีเจตนากระทำความผิดต่อนายดำ(ผู้ได้รับผลร้าย)ด้วย ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่า เจตนาโดยพลาด สรุปได้ว่า นายแดงต้องรับผิดฐานฆ่านายดำโดยพลาด

กรณีที่ 2.

นายแดงซุ่มยิงนายขาว เมื่อนายขาวเดินมา นายแดงลั่นไกปืน แต่ด้วยความช่างสังเกตของนายขาว นายขาวหลบทัน แต่กระสุนกลับไปถูกนายดำที่นั่งกินก๋วยเตี๋ยวตาย เช่นนี้ นายแดงกระทำความผิดฐานพยายามฆ่านายขาวโดยประสงค์ต่อผล ส่วนนายแดงต้องรับโทษต่อนายดำหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่า นายแดงเจตนาประสงค์ หรือ เล็งต่อผล ต่อนายดำหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า นายแดงไม่มีเจตนาประสงค์ หรือ เล็งต่อผลเลย อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น ดังนั้นจึงถือว่านายแดงมีเจตนากระทำความผิดต่อนายดำ(ผู้ได้รับผลร้าย)ด้วย ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่า เจตนาโดยพลาด สรุปได้ว่า นายแดงต้องรับผิดฐานฆ่านายดำโดยพลาด

กรณีที่ 3.

นายแดงซุ่มยิงนายขาว เมื่อนายขาวเดินมา นายแดงลั่นไกปืน นายขาวหลบไม่ทัน กระสุนกลับไปเฉี่ยวไปถูกหน้าอกของนายขาว นายขาวตายคาที่ แต่กระสุนกลับไปถูกนายดำที่นั่งกินก๋วยเตี๋ยวได้รับบาดเจ็บ เช่นนี้ นายแดงกระทำความผิดฐานฆ่านายขาวโดยประสงค์ต่อผล ส่วนนายแดงต้องรับโทษต่อนายดำหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่า นายแดงเจตนาประสงค์ หรือ เล็งต่อผล ต่อนายดำหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า นายแดงไม่มีเจตนาประสงค์ หรือ เล็งต่อผลเลย อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น ดังนั้นจึงถือว่านายแดงมีเจตนากระทำความผิดต่อนายดำ(ผู้ได้รับผลร้าย)ด้วย ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่า เจตนาโดยพลาด สรุปได้ว่า นายแดงต้องรับผิดฐานพยายามฆ่า(เพราะไม่ตายเพียงได้รับบาดเจ็บเท่านั้น)นายดำโดยพลาด

ข้อสังเกต

1.ปกติแล้ว การกระทำโดยพลาดจะมีบุคคล 3 ฝ่าย
1.1.บุคคลที่กระทำความผิด (นายแดง)
1.2.ผู้เสียหายฝ่ายที่ 1 (นายขาว)
1.3.ผู้เสียหายฝ่ายที่ 2 (นายดำ)

2.บุคคลที่กระทำความผิด (นายแดง) ต้องการจะกระทำความผิดต่อ ผู้เสียหายฝ่ายที่ 1 (นายขาว) เท่านั้น แต่ผลของการกระทำดังกล่าว ไปเกิดแก่ ผู้เสียหายฝ่ายที่ 2 (นายดำ) ด้วย

3.ผู้เสียหายฝ่ายที่ 1 (นายขาว) อาจได้รับผลร้ายเท่ากับ ผู้เสียหายฝ่ายที่ 2 (นายดำ) ก็ได้ เช่นกรณีที่ 1

4.ผู้เสียหายฝ่ายที่ 1 (นายขาว) อาจได้รับผลร้ายน้อยกว่า ผู้เสียหายฝ่ายที่ 2 (นายดำ) ก็ได้ เช่นกรณีที่ 2

5.ผู้เสียหายฝ่ายที่ 1 (นายขาว) อาจได้รับผลร้ายมากกว่า ผู้เสียหายฝ่ายที่ 2 (นายดำ)ก็ได้ ดังเช่นกรณีที่ 3

วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2551

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างแรก (ตอนที่6)

ตามที่เคยได้อธิบายเรื่ององคืประกอบภายนอกของความผิดแล้ว พี่ขอยกตัวอย่าง เรื่ององค์ประกอบภายนอกของความผิด ดังนี้

ผู้กระทำ /การกระทำ /กรรมของการกระทำ

ผู้ใด /ฆ่า / ผู้อื่น
ผู้ใด /เอาไป /ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
ผู้ใด /ทำร้ายร่างกาย /ผู้อื่น
ผู้ใด /วางเพลิงเผา /ทรัพย์ของผู้อื่น


ข้อสังเกต ในเรื่องกรรมของการกระทำ

ปกติแล้ว

ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท แต่หากว่า

ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ดังต่อไปนี้
(1) โรงเรือน เรือ หรือแพที่คนอยู่อาศัย

(6) …

ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี

สังเกตได้ว่า
การวางเพลิงปกติระวางโทษไม่เท่าไร แต่หากวางเพลิงทรัพย์ที่สำคัญ ๆ กฎหมายระวางโทษไว้สูงมาก เช่นนี้เรียกว่าเป็นเหตุฉกรรจ์ หรือเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดรับโทษหนักขึ้น

เหตุฉกรรจ์ตามกฎหมายอาญายังมีอีกหลายตัวอย่างเช่น

ปกติแล้ว ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
แต่หากว่า
ผู้ใด
(1) ฆ่าบุพการี

(7) ..
ต้องระวางโทษประหารชีวิต

สังเกตได้ว่าการฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี แล้วแต่ดุลยพินิจศาล แต่หากการฆ่าบุพการี กฎหมายระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียว เช่นนี้เรียกว่าเป็นเหตุฉกรรจ์

อย่างไรก็ตาม

กฎหมายวางหลักว่า “บุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด(เหตุฉกรรจ์) บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้น”

ซึ่งอธิบายได้ง่าย ๆ ว่า

หากนาย ก. ไปดักฆ่านาย ด. เมื่อนาย พ. บิดาของนาย ก. เดินมา นาย ก. คิดว่าเป็นนาย ด. จึงยิงไป ทำให้นาย พ. บิดาของนาย ก. เสียชีวิต เช่นนี้นาย ก. ต้องรับผิดฐานฆ่าบุพการีหรือไม่

เมื่อนาย ก. ไม่รู้ว่า ผู้ที่นาย ก. ฆ่านั้นคือพ่อของตน นาย ก. ย่อมไม่มีความผิดฐาน ฆ่าบุพการี นาย ก. มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเท่านั้น เพราะ “นาย ก. จะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด(เหตุฉกรรจ์) นาย ก. จะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้น”


ไหน ๆ พูดถึงเหตุฉกรรจ์ แล้วก็ขออธิบายคำว่า ผลฉกรรจ์ ซึ่งก็คือ ผลที่ทำให้ผู้กระทำความผิดรับโทษหนักขึ้น

ปกติแล้ว ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากว่า

ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี (อันตรายสาหัสนั้น คือ ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์ เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว แท้งลูก …)

สังเกตได้ว่าการทำร้ายร่างกายผู้อื่นต้องระวางจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่ดุลยพินิจศาล แต่หากการทำร้ายร่างกายผู้อื่นนั้น ทำให้ผู้นั้นรับอันตรายสาหัส กฎหมายระวางโทษระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปีซึ่งเป็นโทษที่หนักกว่า เช่นนี้เรียกว่าเป็นผลฉกรรจ์ ซึ่งก็คือ ผลที่ทำให้ผู้กระทำความผิดรับโทษหนักขึ้น

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างแรก (ตอนที่5)

โครงสร้างความรับผิดทางอาญา ประกอบด้วย 3 โครงสร้าง ซึ่งตอนนี้พี่กำลังอธิบายถึงโครงสร้างแรก

โครงสร้างแรกแบ่งอธิบายได้ 4 องค์ประกอบ องค์ประกอบแรกคือ บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาได้ต้องมีการกระทำ
--------------------------------------------------------------------------------

องค์ประกอบที่ 2 ของโครงสร้างแรกคือ การกระทำตามองค์ประกอบแรกนั้น ครบองค์ประกอบภายนอก

องค์ประกอบภายนอกแบ่งออกเป็น
1.ผู้กระทำ
2.การกระทำ
3.วัตถุแห่งการกระทำ

----------------------------------------------------------------------------------

1.ผู้กระทำความผิดในทางอาญา แยกได้ 3 ประเภท

1.1ผู้กระทำความผิดเอง ผู้นั้นได้กระทำความผิดด้วยตนเองโดยตรง เช่น แดงใช้ปืนยิงดำด้วยมือของ แดงเองเช่นนี้ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดเอง การใช้สัตว์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดการใช้บุคคลซึ่งไม่มีการกระทำ เช่น ถูกสะกดจิตเป็นเครื่องมือถือว่าเป็นการกระทำความผิดเอง

1.2ผู้กระทำความผิดโดยทางอ้อม ผู้ที่หลอกให้ผู้อื่นกระทำความผิด ผู้ถูกหลอกมีการกระทำแต่ขาด เจตนา ผู้ถูกหลอกมีการกระทำเพราะไม่ได้ถูกสะกดจิต ไม่ได้ละเมอแต่ผู้ถูกหลอดขาดเจตนา เพราะ ผู้ถูกหลอกไม่รู้ ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิด

1.3ผู้ร่วมในการกระทำความผิด ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน

----------------------------------------------------------------------------------
2.การกระทำ
กระบวนการเกิดความผิดทางอาญา
1.คิด 2.ตัดสินใจ 3.ตระเตรียม 4.ลงมือ 5.พยายาม 6.ความผิดสำเร็จ

จะเป็นความผิดได้ต้องอยู่ในขั้นลงมือแล้ว

ใช้หลัก ความใกล้ชิดต่อผล คือ ผู้กระทำได้กระทำการขั้นสุดท้ายซึ่งจำต้องกระทำเพื่อให้ความผิดสำเร็จ ถือว่าใกล้ชิดต่อผล เป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว ดังนั้นการกระทำของผู้กระทำจะต้องได้กระทำถึง “ขั้นสุดท้าย” (Last act) ซึ่งจำต้องกระทำเพื่อให้ความผิดสำเร็จแล้ว

เช่น ก. จะฆ่า ข. จึงเอายาพิษผสมในขวดน้ำที่ ข. กินทุกวัน ถือเป็นการลงมือฆ่าแล้วเพราะเป็นการกระทำขั้นสุดท้ายที่ ก.จำเป็นต้องทำเพื่อฆ่า ข.แล้วแม้ ข.จะเป็นหยิบแก้วน้ำนั้นมาดื่มเองก็ตาม

-------------------------------------------------------------------------------------

3.กรรมของการกระทำ
หากไม่มีกรรมของการกระทำจะทำให้ขาดองค์ประกอบความผิด เช่น ลักทรัพย์ของตนเอง, ฆ่าตัวตาย

วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2551

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างแรก (ตอนที่4)

จากที่เคยกล่าวมาแล้วว่า การกระทำแบ่งออกเป็นการกระทำที่เคลื่อนไหวร่างกายและการกระทำที่ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งการกระทำโดยไม่เคลื่อนไหวร่างกายนั้นสามารถแบ่งออกเป็น การงดเว้น และ การละเว้น

เพื่อให้มีความเข้าใจในเรื่องงดเว้นและการละเว้นมากขึ้น ผมขอยกตัวอย่างประกอบความเข้าใจเรื่อง งดเว้น และ ละเว้น ดังนี้ครับ

ข้อเท็จจริง

นางโทพาเด็กชายแดงมาหัดว่ายน้ำกับนายอ้วนที่สระว่ายน้ำหรูกลางใจเมือง มีนายวันเป็นผู้คุมสระ นายวันได้รับจ้างจากนายเอกซึ่งเป็นแฟนเก่าของนางโท โดยนายเอกใช้ให้นายวันฆ่านางโทและเด็กชายแดง ในวันนั้นมีนักกีฬาโอลิมปิกชื่อนายปลาเข้ามาฝึกซ้อมว่ายน้ำด้วย อีกทั้งยังมีเด็กชายแก้ววัย 15 ขวบมาหัดว่ายน้ำด้วย

ระหว่างที่เด็กชายแดงรอนายอ้วนมาหัดว่ายน้ำให้ตน เด็กชายแดงได้ขออนุญาตนางโทผู้เป็นแม่ลงไว้ว่ายน้ำสระเด็กก่อน นางโทได้อนุญาตให้เด็กชายแดงไปว่ายน้ำ ระหว่างที่เด็กชายแดงว่ายน้ำอยู่ได้พลัดเข้าไปในสระผู้ใหญ่ เด็กชายแดงตกใจมาก จึงกระเสือกกระสนเข้าขอบสระ แต่เกิดเป็นตะคริวขึ้นมา และจมน้ำตาย

กรณีมีผู้ใดต้องรับผิดอย่างไรบ้าง ถ้า
1.เด็กชายแดงตะโกนร้องให้ช่วยแต่นางโทคิดว่าถ้าเด็กชายแดงตายไปซะตนจะได้ไม่ต้องมีภาระเลี้ยงดู
2.นายวันเห็นเด็กชายแดงตะโกนร้องให้ช่วย แต่นายวันคิดว่าถ้าเด็กชายแดงตายไป ตนจะได้ไม่เสียเวลาไปฆ่าทีหลัง
3.นายปลา และเด็กชายแก้วเห็นเด็กชายแดงตะโกนร้องให้ช่วย แต่ทั้งสองขี้เกียจช่วย เพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องของตน

-------------------------------------------------------------------------------------
วินิจฉัย

หากสังเกตดูดี ๆ แล้วจะเห็นว่าไม่ว่านางโท นายวัน นายปลา หรือแม้แต่เด็กชายแก้วก็ตาม ไม่มีใครเคลื่อนไหวเลยสักคน ท่านจึงอาจเกิดคำถามว่าแล้วเช่นนี้ต้องรับผิดด้วยหรือ แต่ท่านอย่าลืมนะครับ การกระทำนั้นแบ่งออกเป็นการกระทำโดยเคลื่อนไหวร่างกาย และการกระทำโดยไม่เคลื่อนไหวร่างกาย

เนื่องจากนางโทอยู่ในฐานะมารดา ซึ่งตามกฎหมายมารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เป็นหน้าที่ตามกฎหมายบัญญัติ เมื่อนางโทไม่ดูแลลูกชายของทำให้เด็กชายจมน้ำตาย นางโทจึงต้องรับผิดฐานฆ่าคนตายโดยงดเว้นการกระทำ

กรณีของนายวันได้ทำสัญญาจ้างคนดูแลสระว่ายน้ำ ผู้ดูแลสระมีหน้าโดยเฉพาะที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่ผู้มาใช้บริการ การที่นายวันไม่ลงไปช่วย นายวันจึงต้องรับผิดฐานฆ่าคนตายโดยงดเว้นการกระทำ

ส่วนนายปลา ผู้เข้ามาใช้บริการ ไม่มีความสัมพันธ์พิเศษใด ๆ กับเด็กชายแดง กรณีที่นายปลาไม่ช่วยจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยงดเว้นการกระทำ อย่างไรก็ตาม นายปลาเป็นนักกีฬาโอลิมปิกซึ่งสามารถที่จะช่วยเด็กชายแดงได้แต่ไม่ยอมช่วย เช่นนี้ นายปลาไม่ทำตามหน้าที่อันพลเมืองดีจักต้องทำเป็นหน้าที่โดยทั่วไป นายปลาจึงต้องรับผิดฐานละเว้นการกระทำหน้าที่พลเมืองดี ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ

เด็กชายแก้วไม่ต้องรับผิดฐานละเว้น แม้ว่าหน้าที่พลเมืองดี กำหนดให้ทำ แต่ก็ไม่ได้เป็นการบังคับทุกคน หน้าที่ดังกล่าว กำหนดให้เป็นความผิดเฉพาะกรณีที่ช่วยได้แต่ไม่ช่วย กรณีเด็กชายแก้วเพิ่งมาหัดว่ายน้ำ จึงยังว่ายน้ำไม่เป็น หากเด็กชายแก้วลงไปช่วย เด็กชายแก้วต้องตายไปด้วยอีกคนแน่

สำหรับเรื่องที่นายเอกต้องรับโทษหรือไม่นั้น จะต้องอาศัยความรู้กฎหมายเรื่องอื่นที่มีความซับซ้อนลงไปอีก ผมไม่ขออธิบายไว้ ณ ที่นี้ครับ

วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างแรก (ตอนที่3)

การกระทำอาจแบ่งได้ 2 ประเภทคือ

1.การกระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกาย แบ่งออกเป็น

1.1.การกระทำโดยตรง
1.1.1.กระทำความผิดเอง
เช่น นายเอกได้ยิงนายแดง

1.1.2.กระทำผ่านบุคคลที่ไม่มีการกระทำ
เช่น นายเอกผลักนายโทที่ถือมีดไปแทงนายดำ กรณีนี้จะเห็นได้ว่านายโทถูกผลัก การที่นายโทเคลื่อนไหวจึงไม่ได้อยู่ภายใต้การรู้สำนึก การที่นายดำตาย นายโทจึงไม่ต้องรับผิดเนื่องจากไม่มีการกระทำ แต่นายเอกต้องรับผิดเพราะนายเอกได้กระทำความผิดผ่านบุคคลที่มีการกระทำ

1.1.3.กระทำผ่านสัตว์
เช่น นายเอกสั่งให้หมาของตนไปกัดนายแดง

1.2.กระทำโดยอ้อม
1.2.1.กระทำผ่านบุคคลที่มีการกระทำ (บุคคลที่มีการกระทำในกรณีนี้ไม่มีความชั่ว)
เช่น นายเอกหลอกให้นายดำหยิบกระเป๋าของนายโดที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ โดยนายเอกอ้างว่าเป็นของตน นายดำเชื่อตามที่นายเอกอ้าง จึงหยิบให้กรณีนี้จะเห็นได้ว่านายดำมีการกระทำคือการหยิบ แต่การกระทำของนายดำไม่มีความชั่ว ในทางกฎหมายเรียกว่า Innocent Agent กล่าวคือนายดำไม่ทราบว่าการกระทำเช่นนั้น เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ นายดำจึงไม่ต้องรับผิด ส่วนนายเอกผู้ที่หลอกให้ผู้อื่นกระทำความผิดต้องรับผิดฐานลักทรัพย์ โดยเป็นผู้กระทำความผิดโดยทางอ้อม

1.2.2.กระทำโดยการใช้ (ผู้ใช้/ผู้ถูกใช้ )
เช่น นายเอกจ้างให้นายดำหยิบกระเป๋าของนายโดที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ นายดำได้ค่าจ้าง 800 บาท กรณีนี้จะเห็นได้ว่านายดำมีการกระทำคือการหยิบ และการกระทำของนายดำมีความชั่ว กล่าวคือนายดำทราบว่าการกระทำเช่นนั้น เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ นายดำจึงต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้ถูกใช้ให้กระทำผิด ส่วนนายเอกผู้ที่ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดต้องรับผิดฐานลักทรัพย์ ฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิด

....................................................................................

2.การกระทำโดยไม่เคลื่อนไหวร่างกาย แบ่งออกเป็น

2.1.งดเว้นการกระทำ
การกระทำโดย “งดเว้น” มีหลักเกณฑ์ คือ
1.เป็นการกระทำโดยการไม่เคลื่อนไหวร่างกาย
2.ผู้กระทำมีหน้าที่ต้องกระทำ ซึ่งเป็นหน้าที่ซึ่งต้องกระทำโดยเฉพาะเพื่อป้องกันผลที่เกิดขึ้นนั้น

2.2.ละเว้นการกระทำ
การกระทำโดย “ละเว้น” มีหลักเกณฑ์ คือ
1.เป็นการกระทำโดยการไม่เคลื่อนไหวร่างกาย
2.ผู้กระทำมีหน้าที่ต้องกระทำ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยทั่ว ๆ ไป

สรุป การกระทำโดยงดเว้น/ละเว้น ต่างกันตรงหน้าที่
- หน้าที่โดยทั่ว ๆ ไป (GENERAL DUTY) การไม่ทำตามหน้าที่ถือเป็นการกระทำโดยละเว้น
พูดอีกอย่างได้ว่า“ละเว้น”เป็นกรณีที่บัญญัติไว้เพื่อเป็นหน้าที่พลเมืองดี เมื่อเห็นผู้ใดตกในอันตราย หากสามารถช่วยได้ต้องช่วย ซึ่ง“ละเว้น” นั้นเป็นความผิดลหุโทษ (ความผิดลหุโทษคือความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท)

- หน้าที่โดยเฉพาะเพื่อป้องกันผล (SPECIAL DUTY) การไม่ทำตามหน้าที่เป็นการกระทำโดยงดเว้น

หน้าที่โดยเฉพาะของการกระทำโดยงดเว้นมี 4 ประเภทคือ

1.หน้าที่ ตามกฎหมายบัญญัติ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1563 บุตรต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1564 บิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1461 สามีภรรยาต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน

2.หน้าที่อันเกิดจากการยอมรับโดยเจาะจง
ผู้กระทำยอมรับโดยตรงที่จะทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง การยอมรับก่อให้เกิดหน้าที่ที่จะต้องกระทำตามที่ตนยอมรับ
เช่น การเข้าทำสัญญาจ้างคนดูแลสระว่ายน้ำ ผู้ดูแลสระมีหน้าโดยเฉพาะที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่ผู้มาใช้บริการ

3.หน้าที่อันเกิดจากการกระทำก่อน ๆ ของตน
ถ้าการกระทำของผู้กระทำน่าจะก่อให้เกิดภยันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ผู้กระทำย่อมมีหน้าที่ต้องป้องกันภยันตรายนั้น
เช่น A เห็นคนตาบอดข้ามถนนเลยไปช่วย แต่พอพาไปกลางถนนรถเมล์มา A เลยวิ่งไปขึ้นรถทิ้งคนตาบอดไว้ ขาวขับรถมาชนถูกคนตาบอดตาย

4.หน้าที่อันเกิดจากความสัมพันธ์เป็นพิเศษ
เช่น หลานไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะ ป้า แต่ถ้าป้าคนนั้นเป็นคนเลี้ยงดูหลานมาแต่เด็กให้อาหารกิน ให้การศึกษาอบรม ภายหลังป้าแก่ตัวลงหลานไม่เลี้ยงดูปล่อยให้ป้าอดตาย อาจถือว่าหลานฆ่าป้าก็ได้

วันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2551

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างแรก (ตอนที่2)

อธิบายโครงสร้างแรก(การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ) โดยละเอียดดังนี้

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า โครงสร้างแรกแบ่งออกเป็น 4 องค์ประกอบใหญ๋

และองค์ประกอบแรกของโครงสร้างแรกนั้น คือ "การกระทำ"

เนื่องจาก มาตรา 59 ประมวลกฎหมายอาญาวางหลักไว้ชัดเจนว่า "บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำ" ดังนั้น หากไม่มีการกระทำย่อมไม่ต้องรับผิดทางอาญา

แล้วการกระทำหมายความว่าอย่างไร ..

การกระทำ หมายถึง การเคลื่อนไหว หรือ ไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก อาจจะอธิบายได้ว่าการเคลื่อนไหว หรือ ไม่เคลื่อนไหวร่างกายนั้นต้องอยู่ภายใต้บังคับของจิตใจ

ดังนั้น การเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่รู้สภาพและสาระสำคัญของการกระทำ เช่น การกระทำคนละเมอ หรือคนเป็นลมบ้าหมู หรือการกระทำเพราะถูกผลัก ถูกชน หรือการกระทำโดยถูกจับมือให้ทำ ถูกสะกดจิต กรณีเช่นนี้ ในทางกฎหมายไม่ถือว่ามีการกระทำ เมื่อไม่มีการกระทำย่อมไม่ต้องรับผิดทางอาญา

ดังนั้น การกระทำ จึงต้องผ่าน 3 ขั้นตอน ด้วยความรู้สำนึกในการที่กระทำ กล่าวคือ
1.ต้องมีความคิดที่จะกระทำ
2.ตกลงใจที่จะกระทำตามที่คิด
3.ได้กระทำไปตามที่ตกลงใจอันสืบเนื่องมาจากความคิดการกระทำ

วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างแรก (ตอนที่1)

จากที่เคยกล่าวไปในเบื้องต้นแล้วว่า

บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาต่อเมื่อ

โครงสร้างแรก การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ
โครงสร้างสอง การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด
โครงสร้างสาม การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ

ซึ่งทั้งสามโครงสร้างนี้เรียกว่า“โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา”

ต่อไปจะอธิบายโครงสร้างแรกนะครับ ...

โครงสร้างแรก การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ

โครงสร้างแรกนั้นประกอบด้วย 4 องค์ประกอบดังนี้
1.มีการกระทำ
2.การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายนอก
3.การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายใน
4.มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

ตัวอย่างเพื่อประกอบการพิจารณา

เอกใช้มีดฟันไปที่แขนของโท โทถูกฟันแขนขาด ในการพิจารณาว่าการกระทำของเอกครบ “องค์ประกอบ” ที่กฎหมายบัญญัติตามโครงสร้างข้อ 1 หรือไม่ ให้พิจารณาตามขั้นตอนดังนี้

(1) ดูว่า เอกมี “การกระทำ” หรือไม่
หากเอกไม่มีการกระทำ ก็ไม่ต้องพิจารณาต่อไป แต่หากเอกมีการกระทำจึงค่อยพิจารณาข้อ (2)

(2) ดูต่อไปว่า การกระทำของเอกตามข้อ (1) นั้นครบ “องค์ประกอบภายนอก” ของความผิดในเรื่องนั้น ๆ หรือไม่หากไม่ครบองค์ประกอบภายนอก หรือที่เรียกกันว่า “ขาดองค์ประกอบ” ก็ไม่ต้องพิจารณาต่อไป แต่หากครบองค์ประกอบภายนอก จึงค่อยพิจารณาข้อ (3)

(3) ดูต่อไปว่า การกระทำของเอก ตามข้อ(1) และ (2) นั้น ครบ “องค์ประกอบภายใน” ของความผิดในเรื่องนั้น ๆ หรือไม่หากไม่ครบองค์ประกอบภายในก็ไม่ต้องพิจารณาต่อไป แต่ถ้าครบองค์ประกอบภายในจะต้องพิจารณาข้อ (4) ต่อไป

(4) ดูต่อไปว่า ผลของการกระทำของเอกสัมพันธ์กับการกระทำของแดงตามหลักในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลหรือไม่ หากสัมพันธ์กันเอกก็จะต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้น หากไม่สัมพันธ์กันเอกก็ไม่ต้องรับผิดในผลนั้น แต่รับผิดเพียงเท่าที่ได้กระทำไปแล้วก่อนเกิดผลนั้นขึ้น

สรุป
การที่เอกใช้มีดฟันแขนของโท การกระทำของเอกครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติแล้ว เพราะ
(1)เอกมีการกระทำ
(2)การกระทำของเอกครบองค์ประกอบภายนอกของความผิด
(3)การกระทำของเอกครบองค์ประกอบภายในของความผิด
(4)อาการบาดเจ็บของโทสัมพันธ์กับการกระทำของเอกตามหลักในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

.
.
.

ต่อไปจะอธิบายเรื่อง การกระทำในโครงสร้างแรก องค์ประกอบข้อที่ 1 นะครับ ... (อย่าลืมติดตามนะครับ)

วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา

บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาต่อเมื่อ

โครงสร้างแรก การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ
โครงสร้างสอง การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด
โครงสร้างสาม การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ

โครงสร้างทั้งสามนี้เรียกว่า“โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา”

ดังนั้น ในการพิจารณาว่าบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาหรือไม่นั้น ประการแรกต้องดูว่าการกระทำของบุคคลนั้นครบ “องค์ประกอบ” ที่กฎหมายบัญญัติหรือไม่หากครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ แล้วก็ต้องดูต่อไปว่าการกระทำมีกฎหมายยกเว้นความผิดหรือไม่หากไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด ก็ต้องดูต่อไปว่ามีกฎหมายยกเว้นโทษหรือไม่ เมื่อไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษก็มีหมายความว่าบุคคลนั้นจะต้องรับผิดในทางอาญา

ทั้งนี้หากมีเหตุลดโทษ ศาลก็อาจใช้ดุลพินิจลดโทษให้ เช่น กระทำความผิดเพราะบันดาลโทสะ อย่างไรก็ตาม เหตุลดโทษนั้นไม่ใช่โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา

วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2551

กำหนดการรับตรง ปี 2552

ใครที่ยังไม่ทราบกำหนดการรับตรง ปี 2552 ...


คลิ๊กเข้าไปที่ กำหนดการรับตรง ปี 2552

หรือ

ดูจากทาง เวบติวเพื่อสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ นี้ก็ได้ครับ