วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่สอบเข้าคณะนิติศาสตร์



คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่สอบเข้าคณะนิติศาสตร์
What Where When Why How
What & How: เรียนกฎหมาย เรียนอะไร อย่างไร
            ผู้เขียนเคยได้ยินนักกฎหมายท่านหนึ่งกล่าวว่า “กฎหมายนั้นเรียนไม่ยาก เพราะกฎหมายเป็นเรื่องของการใช้สามัญสำนึก หรือ Common Sense” ดังนั้น ในขณะที่ทำข้อสอบกฎหมายให้พึงระลึกเสมอว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือของการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม การหาคำตอบของข้อสอบกฎหมายจึงเป็นการแสวงหาหนทางที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นนั่นเอง

            เมื่อกฎหมายเป็นเรื่องของสามัญสำนึก ผมขอยกตัวหนึ่งที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจมากยิ่งขึ้น
            หากเปรียบเทียบว่า สังคมคือสี่แยกแห่งหนึ่ง การปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมเปรียบเสมือนการใช้รถใช้ถนน ซึ่งทุกคนย่อมอยากจะไปถึงจุดหมายที่ตนเองวางแผนไว้ หากนาย A ต้องการไปยังฝั่งของนาย D เพื่อพาแม่ของตนที่ป่วยหนักไปโรงพยาบาล, ส่วนนาย D ต้องการไปยังฝั่งของนาย A เพื่อไปหาแฟนที่ตนนัดไว้, ส่วนนาย C ต้องการไปยังฝั่งของนาย B เพื่อไปศาลตามกำหนดที่ศาลนัด, ส่วนนาย B ต้องการไปยังฝั่งของนาย C เพื่อไปทำงาน
            สังเกตได้ว่าแต่ละคนล้วนแล้วแต่มีจุดมุ่งหมายของตนเองทั้งสิ้น ทุกคนย่อมรีบร้อนที่จะไปทำธุระของตน เพราะเข้าใจว่าธุระของตนมีความสำคัญ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ย่อมมีการโต้เถียง กระทบกระทั่งกัน สุดท้ายนำไปสู่ความขัดแย้ง ต่างฝ่ายย่อมต้องอ้างธุระว่าตนมีความรีบร้อนกว่าธุระคนอื่น

            แล้วอะไรจะเป็นสิ่งที่จะกำหนดว่า ใครมีสิทธิที่จะไปก่อน โดยที่คนที่เหลือมีหน้าที่ต้องรอ เพื่อให้การใช้สี่แยกนั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและลดความขัดแย้งอันเกิดขึ้นเนื่องจากมีการปฏิสัมพันธ์กันของคนในสังคม
            คำตอบง่าย ๆ ก็คือ ไฟจราจร นั่นเอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบว่า เป็น กฎหมาย นั่นเอง
            หากสัญญาณไฟจราจรฝั่งของ A ขึ้นสีเขียว เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการที่ A ได้ สิทธิ ที่จะใช้เส้นทางนั้น โดยที่ B, C, D มี หน้าที่ ที่จะหยุดรถของตน ถ้า B, C, D ฝ่าฝืนไม่กระทำตาม หน้าที่ ทั้ง B, C และ D ย่อมมี ความรับผิด ต่อ A เพราะเหตุที่ไม่กระทำตามหน้าที่ของตน
            ดังนั้น หากไม่มีการปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคม ไม่มีการอยู่ร่วมกัน ไม่มีสังคม ย่อมไม่มีความวุ่นวาย ไม่มีความขัดแย้ง กฎหมายย่อมไม่มีความสำคัญ ดังจะเห็นได้จากสุภาษิตลาตินบทหนึ่งที่กล่าวว่า ที่ใดมีสังคม ที่นั่นย่อมมีกฎหมาย” (Ubi societas, ibi jus)

Where & When: เรียนกฎหมายที่ไหน ตอนไหน
            พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์) หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักสมัญญานามของพระองค์ท่านว่า พระบิดาแห่งกฎหมายไทยทรงก่อตั้งโรงเรียนกฎหมายแห่งแรกของประเทศไทย ภายหลังจากนั้น มีการโอนการเรียนการสอนมารวมเป็นคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นจึงยกระดับขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
            ในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชน สถาบันราชภัฏ และวิทยาลัยได้เปิดการเรียนการสอนในสาขานิติศาสตร์ รวมจำนวนแล้วมากกว่า 90 สถาบัน
            ในระบบการศึกษาปกติ คณะนิติศาสตร์จะรับผู้ที่จะเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี โดยมีคุณสมบัติคือเป็นผู้สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นอกจากนี้ บางมหาวิทยาลัยยังมีการรับนิสิต นักศึกษาผ่านระบบสอบตรง ซึ่งปกติจะมีการวัดความรู้ทั่วไปทางกฎหมายเพื่อที่จะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่มีความสนใจและถนัดในเรียนวิชานิติศาสตร์
            นอกจากระบบการศึกษาปกติแล้ว คณะนิติศาสตร์บางมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ยังได้มีการเปิดระบบการศึกษาพิเศษ (รู้จักกันว่า โครงการนิติศาสตร์ ภาคบัณฑิต) ที่รับเฉพาะผู้สำเร็จขั้นปริญญาบัณฑิตในสาขาวิชาอื่น (ที่มิใช่นิติศาสตร์) ศึกษาได้ โดยจัดเป็นการศึกษาแบบบูรณาการ เพื่อให้นิสิตสามารถนำองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมมาเชื่อมโยงและประยุกต์ใช้กับความรู้ทางนิติศาสตร์ เพื่อเป็นบัณฑิตทางนิติศาสตร์ที่รู้รอบและรอบรู้ในการประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรือในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอื่น ๆ ตามความชำนาญของตน

Why: เรียนกหมายไปทำไม
            จริงๆแล้ว คำถามที่ว่าเรียนกหมายไปทำไมนั้น เป็นคำถามพื้นฐานที่สุดที่ผู้ที่จะสอบเข้าคณะนิติศาสตร์พึงต้องสำรวจตนเองเสียก่อนว่า เป้าหมายในการประกอบอาชีพของเราคืออะไร
            เมื่อสำเร็จการศึกษาทางนิติศาสตร์ สามารถประกอบวิชาชีพทางกฎหมายใดได้บ้าง
-             ผู้พิพากษา
-             พนักงานอัยการ
-             ทนายความ
-             ที่ปรึกษากฎหมาย
-             อาจารย์นิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย
-             นิติกรประจำหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐ เช่น เจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ นิติกรศาล นิติกรสำนักงานอัยการ เสมียนศาล เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน ป.ป.ป. พนักงานคุมประพฤติ เป็นต้น
-             เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
-             ปลัดอำเภอ
-             นักการทูต
-             พนักงานแผนกกฎหมายในบริษัทเอกชนต่างๆ
-             เจ้าพนักงานตำรวจ
-             นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน (ส.ต.ง.)
-             ข้าราชการรัฐสภาสามัญปฏิบัติงานในหน้าที่นิติกร
-             นายทหารเหล่าพระธรรมนูญ

คำถามยอดฮิต

            1. เนติบัณฑิตยสภา คืออะไร
            เนติบัณฑิตยสภาในพระบรมราชูปภัมภ์เป็นองค์การอิสระมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษานิติศาสตร์ และการประกอบอาชีพทางกฎหมาย รวมทั้งการรักษาความประพฤติของทนายความ ให้ตั้งอยู่ในสัจธรรม ให้สาธารณชนได้อาศัยทนายความซึ่งมีความสามารถและสมควรที่จะเชื่อถือได้ดียิ่งขึ้น
            ต่อมาเนติบัณฑิตยสภาได้จัดตั้ง สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา (Institute of Legal Education Thai Bar Association ) โดยมีเป้าหมายสำคัญว่า การจัดการศึกษาวิชากฎหมายนั้นจำเป็นต้องให้มีการศึกษาภาคปฏิบัติอย่างเพียงพอเสียก่อนที่จะอนุญาตเข้าปฏิบัติงานในวิชาชีพกฎหมาย ดังนั้น ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตมาแล้ว หากประสงค์ที่จะประกอบวิชาชีพผู้พิพากษา หรือพนักงานอัยการ จะต้องเข้าอบรมในสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาเสียก่อน หากบุคคลใดสามารถสอบไล่ได้เป็น “เนติบัณฑิตไทย หรือ น.บ.ท.” แล้ว ย่อมมีคุณสมบัติที่จะเข้าสอบเพื่อบรรจุเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา หรืออัยการผู้ช่วย (ภายหลังจากนั้น จึงจะได้บรรจุเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาหรือพนักงานอัยการ ต่อไป)



            2. ถ้าจะประกอบวิชาชีพทนายความจะต้องทำอย่างไร
            ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตมาแล้ว หากประสงค์ที่จะประกอบวิชาชีพทนายความ จะต้องเข้าอบรมในสำนักอบรมวิชาว่าความเสียก่อน หากบุคคลใดสามารถสอบไล่ได้ตามหลักสูตร ก็จะมีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความได้

            3. จบหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตแล้ว ไม่ประสงค์ที่จะศึกษาต่อหลักสูตรเนติบัณฑิตและหลักสูตรวิชาว่าความได้หรือไม่
            ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตมาแล้ว มีช่องทางในการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายที่หลากหลายดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น ซึ่งหลายวิชาชีพทางกฎหมายก็ไม่ได้ระบุคุณสมบัติของการเป็นเนติบัณฑิตไทยหรือจะต้องมีใบอนุญาตว่าความ เช่น ที่ปรึกษากฎหมายในสำนักงานกฎหมาย พนักงานแผนกกฎหมายในบริษัทเอกชน นิติกรบางหน่วยงานของรัฐ เป็นต้น
            อย่างไรก็ตาม เมื่อสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตแล้ว หากผู้ใดต้องการศึกษาในสายนิติศาสตร์ในขั้นที่สูงขึ้นและต้องการมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมายเอกชนและธุรกิจ กฎหมายมหาชน กฎหมายระหว่างประเทศ หรือวิชากฎหมายอาญา ผู้นั้นสามารถศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตต่อไปได้

            4. จริงหรือไม่ ที่เรียนกฎหมายมีโอกาสเสี่ยงตกงานสูง
            ถ้าคิดแบบใช้สามัญสำนึกทั่วไป นายจ้างย่อมต้องการจ้างลูกจ้างที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานด้วย เพื่อที่จะทำให้องค์กรนายจ้างเกิดความพัฒนาและเติบโต ดังนั้น หากผู้ที่จบกฎหมายมีจำนวนมาก ในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน นายจ้างย่อมมีตัวเลือกที่มากขึ้น ในทางกลับกันผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับนิติศาสตรบัณฑิตในแต่ละปีมีจำนวนมาก ย่อมเกิดโอกาสเสี่ยงสูงที่จะตกงาน อย่างไรก็ตาม เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว นิสิตนักศึกษารวมทั้งบัณฑิตย่อมต้องฝึกตนให้พร้อม พัฒนาความรู้ความสามารถ ทบทวนความรู้กฎหมาย ใส่ใจเหตุการณ์รอบตัวตลอดเพื่อปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และพัฒนาทักษะการใช้ภาษา (โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ) เพื่อเพิ่มศักยภาพของตนเองด้วย



1 ความคิดเห็น: