วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555
เรื่องที่นักศึกษากฎหมายต้องรู้ - ทรัพยสิทธิ และ บุคคลสิทธิ
ทรัพยสิทธิ
ทรัพยสิทธิ คือ สิทธิเหนือทรัพย์สิน หรือเป็นสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินโดยตรง เช่น ตามมาตรา ๑๓๓๖ ได้วางหลักเกี่ยวกับการใช้กรรมสิทธิ์ของผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพยสิทธิไว้ว่า สามารถใช้สอย จำหน่ายทรัพย์สิน ติดตามเอาทรัพย์สินนั้นคืนจากผู้ที่ไม่มีอำนาจยึดถือไว้ได้
ตรงนี้เป็นที่มาของหลักทั่วไปที่ว่า “ทรัพยสิทธิเป็นสิทธิที่ใช้ยันแก่บุคคลได้ทั่วไป” หรือ “ใช้ยันแก่บุคคลได้ทั่วโลก”
โดยทรัพยสิทธินั้นเกิดขึ้น หรือก่อตั้งขึ้นได้ก็โดยอาศัยอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง ภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน และภารติดพันอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
บุคคลสิทธิ
บุคคลสิทธิ มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า สิทธิเหนือบุคคล สิทธิเรียกร้อง หรือหนี้
โดยทั่วไปแล้ว หนี้คือนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลสองฝ่าย ฝ่ายแรกเรียกว่าเจ้าหนี้ ฝ่ายที่สองเรียกว่าลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และลูกหนี้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตามที่ตนเองเป็นหนี้อยู่ จึงเรียกว่าเป็นกรณีที่เจ้าหนี้มีสิทธิเหนือลูกหนี้ หรือเรียกว่า เจ้าหนี้มีบุคคลสิทธิเหนือลูกหนี้ ในการที่จะเรียกชำระหนี้
เมื่อหนี้เป็นเรื่องระหว่างบุคคล (เจ้าหนี้-ลูกหนี้) แล้ว มีคำถามว่า เจ้าหนี้สามารถเรียกร้องให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้(เช่นบุตรหรือบิดามารดาของลูกหนี้)ชำระหนี้แทนลูกหนี้ได้หรือไม่
คำตอบคือ ไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ “หนี้เป็นเรื่องระหว่างบุคคล” ถ้าจะให้ทำความเข้าใจง่ายๆ ใครเป็นหนี้ คนนั้นก็มีหน้าที่ต้องชำระหนี้นั้น (มีคำกล่าวที่มักได้ยินบ่อยๆว่า บุคคลสิทธิใช้ยันได้เฉพาะคู่กรณี – คู่กรณีก็คือ เจ้าหนี้ – ลูกหนี้ นั่นเอง)
มูลแห่งหนี้ บ่อเกิดแห่งหนี้นั้น หรือช่องทางที่ทำให้เกิดหนี้นั้น เกิดจาก ๒ ช่องทางหลัก กล่าวคือ
(๑) ทางนิติกรรมสัญญา-หนี้ที่เกิดขึ้นโดยความสมัครใจ
(๒) ทางนิติเหตุ-หนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย (ละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ และอื่นๆ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น