วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

อำนาจอธิปไตย

อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 3 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนี้ทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล


องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของความเป็นรัฐคือ อำนาจอธิปไตย (sovereignty) เพราะเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศโดยเป็นอำนาจที่จะบังคับให้ประชาชนภายในรัฐปฏิบัติหรืองดเว้นปฏิบัติ และยังใช้ในการอ้างสิทธิเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มอำนาจอื่น ๆ เข้ามามีอำนาจเหนือพื้นที่ที่รัฐ นั้น ๆ อ้างอำนาจอธิปไตยอยู่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คืออำนาจอธิปไตยคืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจทางกฎหมายที่มีลักษณะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (final legal authority) โดยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้นจะขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ของประชาชนผู้ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงเป็นสำคัญ


ทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจ ( Separation of Powers)

เริ่มต้นมีขึ้นในศตวรรษที่ 17 ซึ่งผู้ที่คิดค้นแนวความคิดดังกล่าวคือ มองเตสกิเออ Montesquieu ( 1689- 1755) โดยได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือที่รู้จักกันในนาม The Spirit of Law หรือเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวได้มีผลต่อการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกาและของประเทศฝรั่งเศส เป็นอย่างมากในระยะนั้น

มองเตสกิเออ จึงได้ชื่อว่า เป็นผู้วางหลักการแบ่งแยกอำนาจการปกครอง และอาจกล่าวได้ว่า เป็นผู้ที่สนใจรูปแบบการปกครองของอังกฤษ คนแรกๆ หลังจากที่มาเยือนประเทศอังกฤษ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดย มองเตสกิเออ ได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จในการปกครองประเทศของอังกฤษว่า “ การที่ประเทศอังกฤษมีเสรีภาพในทางการเมืองมากที่สุด เพราะว่าอำนาจหน้าที่ของรัฐ ได้แบ่งแยกไปยังอำนาจ หรือองค์กรต่าง ๆ โดยไม่มีอำนาจหรือองค์กรใด ที่จะมีอำนาจโดยเด็ดขาดที่จะบีบบังคับประชาชนได้ เสรีภาพของประชาชนจะไม่มีเลย ถ้าอำนาจเหล่านั้นไปรวมอยู่ที่องค์ใดองค์กรหนึ่งเพียงองค์กรเดียว” โดย มองเตสกิเออ ได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าว ความตอนหนึ่งว่า

1. อำนาจนิติบัญญัติ คือ อำนาจเกี่ยวกับการวางระเบียบบังคับทั่วไปในรัฐ
2. อำนาจบริหาร คือ อำนาจในการใช้ หรือบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย
3. อำนาจตุลาการ คือ อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยอรรถคดี

มองเตสกิเออ ตอกย้ำว่า “ เมื่อใดอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารรวมอยู่ที่คนคนเดียวหรือองค์กรเจ้าหน้าที่เดียวกัน อิสรภาพย่อมไม่อาจมีได้ เพราะจะเกิดความหวาดกลัว เนื่องจากกษัตริย์ หรือสภาเดียวกันอาจบัญญัติกฎหมายแบบทรราชย์.....เช่นเดียวกันอิสรภาพจะไม่มีอยู่ ถ้าอำนาจตุลาการไม่แยกออกจากอำนาจนิติบัญญัติและการบริหาร หากรวมอยู่กับนิติบัญญัติ ชีวิตและอิสรภาพของคนในบังคับจะอยู่ภายใต้การควบคุมแบบพลการ เพราะตุลาการอาจประพฤติด้วยวิธีรุนแรงและกดขี่.... ทุกสิ่งทุกอย่างจะถึงซึ่งอวสาน...”

เมื่อพิจารณาจากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่า มองเตสกิเออ ไม่ต้องการให้อำนาจอยู่ที่บุคคลเพียงคนเดียว เพราะตามธรรมดา บุคคลใดก็ตามซึ่งมีอำนาจอยู่ในมือ มักจะใช้อำนาจเกินเลยเสมอ ดังนั้นเพื่อจะมิให้มีการใช้อำนาจเกินขอบเขต จึงจำต้องจัดให้มีอำนาจหนึ่งหยุดยั้งอีกอำนาจหนึ่ง ตามวิถีทางแห่งกำลัง หรือที่เรามักได้ยินคำกล่าวที่ว่า อำนาจย่อมหยุดยั้งได้ซึ่งอำนาจ หรือที่เรียกว่า Power Stop Power มองเตสกิเออ ยังได้กล่าวต่อไปว่า การแบ่งแยกอำนาจนั้นจะมีได้แต่เฉพาะในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย เท่านั้น ส่วนในประเทศที่ปกครองในระบอบเผด็จการ หรือ สังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์ อำนาจทั้งสามจะถูกรวบให้เป็นอำนาจเดียว

ดังนั้น กล่าวโดยสรุป มองเตสกิเออ เห็นว่า การแบ่งแยกอำนาจ คือ การมอบอำนาจอธิปไตยเป็น 3 ลักษณะ อันประกอบด้วย รัฐบาลซึ่งทำหน้าที่ด้านการบริหาร บ้านเมือง รัฐสภาในฐานะองค์กรด้านนิติบัญญัติ ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ด้านออกกฎหมาย และศาลยุติธรรม ในฐานะองค์กรด้านตุลาการ ที่ทำหน้าที่พิจารณาตัดสินคดีต่าง ๆ ภายใต้แห่งระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน (Check and Balance ) ระหว่างทั้ง 3 องค์กร นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอำนาจตุลาการนั้น โดยลักษณะแล้ว สมควรเป็นอำนาจที่มีอิสระ และจะไปอยู่ร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ โดยเด็ดขาด

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : www.pub-law.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น