หากผู้อ่านเคยเช่าพักอยู่ในอาคาร หรือตามหอพัก ท่านคงเคยวางมัดจำไว้ต่ออาคาร หรือหอพักที่ท่านอาศัยอยู่ นอกจากมัดจำแล้ว ในสัญญาอาจมีการกำหนดเบี้ยปรับด้วย ซึ่งหากมองในมุมของกฎหมายแล้ว สัญญาเช่าอาคารเป็นสัญญาหลัก หรือเรียกอีกอย่างว่า สัญญาประธาน และสัญญามัดจำ หรือเบี้ยปรับ เป็นสัญญารอง หรือเรียกอีกอย่างว่า สัญญาอุปกรณ์ และเมื่อสัญญาอุปกรณ์ เป็นสัญญาที่เกิดขึ้นมาประกอบ สัญญาประธาน ดังนั้น เมื่อสัญญาประธานระงับลง สัญญาอุปกรณ์ย่อมระงับลงไปด้วย
มัดจำ
หลักกฎหมาย
“เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่า การที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่า สัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่งมัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย”
จากหลักกฎหมายข้างต้นสามารถตั้งข้อสังเกตได้ดังนี้
1.มัดจำ คือ เงินหรือสังหาริมทรัพย์มีค่าอย่างอื่นซึ่งคู่สัญญาได้ส่งมอบให้แก่กันเมื่อเข้าทำสัญญา
2.วัตถุประสงค์ในการวางมัดจำ
•เพื่อเป็นหลักฐานในการทำสัญญา หมายความว่า เป็นหลักฐานเบื้องต้นประการหนึ่งว่าได้มีสัญญาแล้ว
•เป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา
3.ต้องเป็นสิ่งที่คู่สัญญา “ส่งมอบ” ให้ไว้แก่กันเมื่อเข้าทำสัญญา “การส่งมอบมัดจำในขณะที่ทำสัญญา” ถือเป็นสาระสำคัญของมัดจำ
4.สิ่งที่ส่งมอบให้เป็นมัดจำต้องเป็นสังหาริมทรัพย์เท่านั้น
ผลของการวางมัดจำ
หลักกฎหมาย
"มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1)ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้
(2)ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น
(3)ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ"
จากหลักกฎหมายข้างต้นสามารถตั้งข้อสังเกตโดยอธิบายผ่านตัวอย่างได้ดังนี้
นายเอกได้ติดต่อขอเช่าหอพักแสนสุขเป็นเวลาหนึ่งเดือน ๆ ละหนึ่งหมื่นบาท โดยวางเงินไว้เป็นมัดจำไว้ขณะทำสัญญาเช่าจำนวนห้าพันบาท หากว่า
1.หากนายเอกชำระค่าเช่าตามสัญญา นายเอกมีสิทธิดังนั้น
•ให้เจ้าของหอพักแสนสุขคืนเงินมัดจำ หรือ
•ให้เจ้าของหอพักแสนสุขจัดเป็นการชำระหนี้บางส่วนได้ ดังนั้น นายเอกต้องชำระเงินเพิ่มอีกเพียงห้าพันบาทเท่านั้น
2.หากนายเอกไม่ชำระค่าเช่าตามสัญญา เจ้าของหอมีสิทธิริบเงินมัดจำนั้นได้
-------------------------------------------------------------------------------------
เบี้ยปรับ
การกำหนดเบี้ยปรับ เป็นการกำหนดค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนไว้ล่วงหน้า สำหรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อมีการไม่ชำระหนี้ หรือเมื่อมีการชำระหนี้แต่ไม่ถูกต้องสมควร
ตัวอย่าง
นายเอกได้ติดต่อขอเช่าหอพักแสนสุขเป็นเวลาหนึ่งเดือน ๆ ละหนึ่งหมื่นบาท โดยวางเงินไว้เป็นมัดจำไว้ขณะทำสัญญาเช่าจำนวนห้าพันบาท อีกทั้งหอพักยังได้กำหนดเบี้ยปรับไว้ห้าพันบาทด้วย หากว่านายเอกมาชำระเงินค่าเช่า แต่เมื่อมาตรวจห้องที่ให้แล้วพบว่ามีร่องรอยความเสียหายเกิดขึ้น หอพักแสนสุขมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับได้
เบี้ยปรับมีหน้าที่ 2 ประการดังต่อไปนี้
1.เบี้ยปรับเป็นการให้ความแน่นอนไว้ล่วงหน้าก่อนว่าจะมีการจ่ายเงินจำนวนหนึ่ง เป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเพราะการไม่ปฏิบัติตามสัญญา
2.ทำให้เกิดความมั่นใจและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคู่กรณี ว่าคู่สัญญาจะปฏิบัติข้อตกลงที่ให้ไว้ต่อกัน
ข้อสังเกตในเรื่องเบี้ยปรับ
1.เบี้ยปรับเป็นสัญญาอุปกรณ์เช่นเดียวกับมัดจำ โดยเบี้ยปรับเป็นสิ่งที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ในสัญญา หรือเป็นสัญญาข้อหนึ่งที่ระบุให้คู่สัญญาฝ่ายที่ไม่ชำระหนี้ หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสมควร ต้องรับภาระชดใช้ค่าเสียหาย หรือค่าสินไหมทดแทน ในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามจำนวนที่กำหนด
2.เมื่อเบี้ยปรับ เป็นค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้า เบี้ยปรับจึงไม่จำต้องการส่งมอบให้แก่กันในขณะทำสัญญา
3.หากคู่สัญญากำหนดเบี้ยปรับไว้สูงเกิน ศาลมีอำนาจใช้ดุลยพินิจปรับลดเบี้ยปรับนั้นลงตามสมควร