ตามที่เคยได้อธิบายเรื่ององคืประกอบภายนอกของความผิดแล้ว พี่ขอยกตัวอย่าง เรื่ององค์ประกอบภายนอกของความผิด ดังนี้
ผู้กระทำ /การกระทำ /กรรมของการกระทำ
ผู้ใด /ฆ่า / ผู้อื่น
ผู้ใด /เอาไป /ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
ผู้ใด /ทำร้ายร่างกาย /ผู้อื่น
ผู้ใด /วางเพลิงเผา /ทรัพย์ของผู้อื่น
ข้อสังเกต ในเรื่องกรรมของการกระทำ
ปกติแล้ว
ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท แต่หากว่า
ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ดังต่อไปนี้
(1) โรงเรือน เรือ หรือแพที่คนอยู่อาศัย
…
(6) …
ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี
สังเกตได้ว่า
การวางเพลิงปกติระวางโทษไม่เท่าไร แต่หากวางเพลิงทรัพย์ที่สำคัญ ๆ กฎหมายระวางโทษไว้สูงมาก เช่นนี้เรียกว่าเป็นเหตุฉกรรจ์ หรือเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดรับโทษหนักขึ้น
เหตุฉกรรจ์ตามกฎหมายอาญายังมีอีกหลายตัวอย่างเช่น
ปกติแล้ว ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
แต่หากว่า
ผู้ใด
(1) ฆ่าบุพการี
…
(7) ..
ต้องระวางโทษประหารชีวิต
สังเกตได้ว่าการฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี แล้วแต่ดุลยพินิจศาล แต่หากการฆ่าบุพการี กฎหมายระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียว เช่นนี้เรียกว่าเป็นเหตุฉกรรจ์
อย่างไรก็ตาม
กฎหมายวางหลักว่า “บุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด(เหตุฉกรรจ์) บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้น”
ซึ่งอธิบายได้ง่าย ๆ ว่า
หากนาย ก. ไปดักฆ่านาย ด. เมื่อนาย พ. บิดาของนาย ก. เดินมา นาย ก. คิดว่าเป็นนาย ด. จึงยิงไป ทำให้นาย พ. บิดาของนาย ก. เสียชีวิต เช่นนี้นาย ก. ต้องรับผิดฐานฆ่าบุพการีหรือไม่
เมื่อนาย ก. ไม่รู้ว่า ผู้ที่นาย ก. ฆ่านั้นคือพ่อของตน นาย ก. ย่อมไม่มีความผิดฐาน ฆ่าบุพการี นาย ก. มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเท่านั้น เพราะ “นาย ก. จะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด(เหตุฉกรรจ์) นาย ก. จะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้น”
ไหน ๆ พูดถึงเหตุฉกรรจ์ แล้วก็ขออธิบายคำว่า ผลฉกรรจ์ ซึ่งก็คือ ผลที่ทำให้ผู้กระทำความผิดรับโทษหนักขึ้น
ปกติแล้ว ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากว่า
ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี (อันตรายสาหัสนั้น คือ ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์ เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว แท้งลูก …)
สังเกตได้ว่าการทำร้ายร่างกายผู้อื่นต้องระวางจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่ดุลยพินิจศาล แต่หากการทำร้ายร่างกายผู้อื่นนั้น ทำให้ผู้นั้นรับอันตรายสาหัส กฎหมายระวางโทษระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปีซึ่งเป็นโทษที่หนักกว่า เช่นนี้เรียกว่าเป็นผลฉกรรจ์ ซึ่งก็คือ ผลที่ทำให้ผู้กระทำความผิดรับโทษหนักขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น