วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างแรก (ตอนที่3)

การกระทำอาจแบ่งได้ 2 ประเภทคือ

1.การกระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกาย แบ่งออกเป็น

1.1.การกระทำโดยตรง
1.1.1.กระทำความผิดเอง
เช่น นายเอกได้ยิงนายแดง

1.1.2.กระทำผ่านบุคคลที่ไม่มีการกระทำ
เช่น นายเอกผลักนายโทที่ถือมีดไปแทงนายดำ กรณีนี้จะเห็นได้ว่านายโทถูกผลัก การที่นายโทเคลื่อนไหวจึงไม่ได้อยู่ภายใต้การรู้สำนึก การที่นายดำตาย นายโทจึงไม่ต้องรับผิดเนื่องจากไม่มีการกระทำ แต่นายเอกต้องรับผิดเพราะนายเอกได้กระทำความผิดผ่านบุคคลที่มีการกระทำ

1.1.3.กระทำผ่านสัตว์
เช่น นายเอกสั่งให้หมาของตนไปกัดนายแดง

1.2.กระทำโดยอ้อม
1.2.1.กระทำผ่านบุคคลที่มีการกระทำ (บุคคลที่มีการกระทำในกรณีนี้ไม่มีความชั่ว)
เช่น นายเอกหลอกให้นายดำหยิบกระเป๋าของนายโดที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ โดยนายเอกอ้างว่าเป็นของตน นายดำเชื่อตามที่นายเอกอ้าง จึงหยิบให้กรณีนี้จะเห็นได้ว่านายดำมีการกระทำคือการหยิบ แต่การกระทำของนายดำไม่มีความชั่ว ในทางกฎหมายเรียกว่า Innocent Agent กล่าวคือนายดำไม่ทราบว่าการกระทำเช่นนั้น เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ นายดำจึงไม่ต้องรับผิด ส่วนนายเอกผู้ที่หลอกให้ผู้อื่นกระทำความผิดต้องรับผิดฐานลักทรัพย์ โดยเป็นผู้กระทำความผิดโดยทางอ้อม

1.2.2.กระทำโดยการใช้ (ผู้ใช้/ผู้ถูกใช้ )
เช่น นายเอกจ้างให้นายดำหยิบกระเป๋าของนายโดที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ นายดำได้ค่าจ้าง 800 บาท กรณีนี้จะเห็นได้ว่านายดำมีการกระทำคือการหยิบ และการกระทำของนายดำมีความชั่ว กล่าวคือนายดำทราบว่าการกระทำเช่นนั้น เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ นายดำจึงต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้ถูกใช้ให้กระทำผิด ส่วนนายเอกผู้ที่ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดต้องรับผิดฐานลักทรัพย์ ฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิด

....................................................................................

2.การกระทำโดยไม่เคลื่อนไหวร่างกาย แบ่งออกเป็น

2.1.งดเว้นการกระทำ
การกระทำโดย “งดเว้น” มีหลักเกณฑ์ คือ
1.เป็นการกระทำโดยการไม่เคลื่อนไหวร่างกาย
2.ผู้กระทำมีหน้าที่ต้องกระทำ ซึ่งเป็นหน้าที่ซึ่งต้องกระทำโดยเฉพาะเพื่อป้องกันผลที่เกิดขึ้นนั้น

2.2.ละเว้นการกระทำ
การกระทำโดย “ละเว้น” มีหลักเกณฑ์ คือ
1.เป็นการกระทำโดยการไม่เคลื่อนไหวร่างกาย
2.ผู้กระทำมีหน้าที่ต้องกระทำ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยทั่ว ๆ ไป

สรุป การกระทำโดยงดเว้น/ละเว้น ต่างกันตรงหน้าที่
- หน้าที่โดยทั่ว ๆ ไป (GENERAL DUTY) การไม่ทำตามหน้าที่ถือเป็นการกระทำโดยละเว้น
พูดอีกอย่างได้ว่า“ละเว้น”เป็นกรณีที่บัญญัติไว้เพื่อเป็นหน้าที่พลเมืองดี เมื่อเห็นผู้ใดตกในอันตราย หากสามารถช่วยได้ต้องช่วย ซึ่ง“ละเว้น” นั้นเป็นความผิดลหุโทษ (ความผิดลหุโทษคือความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท)

- หน้าที่โดยเฉพาะเพื่อป้องกันผล (SPECIAL DUTY) การไม่ทำตามหน้าที่เป็นการกระทำโดยงดเว้น

หน้าที่โดยเฉพาะของการกระทำโดยงดเว้นมี 4 ประเภทคือ

1.หน้าที่ ตามกฎหมายบัญญัติ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1563 บุตรต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1564 บิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1461 สามีภรรยาต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน

2.หน้าที่อันเกิดจากการยอมรับโดยเจาะจง
ผู้กระทำยอมรับโดยตรงที่จะทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง การยอมรับก่อให้เกิดหน้าที่ที่จะต้องกระทำตามที่ตนยอมรับ
เช่น การเข้าทำสัญญาจ้างคนดูแลสระว่ายน้ำ ผู้ดูแลสระมีหน้าโดยเฉพาะที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่ผู้มาใช้บริการ

3.หน้าที่อันเกิดจากการกระทำก่อน ๆ ของตน
ถ้าการกระทำของผู้กระทำน่าจะก่อให้เกิดภยันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ผู้กระทำย่อมมีหน้าที่ต้องป้องกันภยันตรายนั้น
เช่น A เห็นคนตาบอดข้ามถนนเลยไปช่วย แต่พอพาไปกลางถนนรถเมล์มา A เลยวิ่งไปขึ้นรถทิ้งคนตาบอดไว้ ขาวขับรถมาชนถูกคนตาบอดตาย

4.หน้าที่อันเกิดจากความสัมพันธ์เป็นพิเศษ
เช่น หลานไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะ ป้า แต่ถ้าป้าคนนั้นเป็นคนเลี้ยงดูหลานมาแต่เด็กให้อาหารกิน ให้การศึกษาอบรม ภายหลังป้าแก่ตัวลงหลานไม่เลี้ยงดูปล่อยให้ป้าอดตาย อาจถือว่าหลานฆ่าป้าก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น