วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา โครงสร้างแรก (ตอนที่1)

จากที่เคยกล่าวไปในเบื้องต้นแล้วว่า

บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาต่อเมื่อ

โครงสร้างแรก การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ
โครงสร้างสอง การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด
โครงสร้างสาม การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ

ซึ่งทั้งสามโครงสร้างนี้เรียกว่า“โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา”

ต่อไปจะอธิบายโครงสร้างแรกนะครับ ...

โครงสร้างแรก การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ

โครงสร้างแรกนั้นประกอบด้วย 4 องค์ประกอบดังนี้
1.มีการกระทำ
2.การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายนอก
3.การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายใน
4.มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

ตัวอย่างเพื่อประกอบการพิจารณา

เอกใช้มีดฟันไปที่แขนของโท โทถูกฟันแขนขาด ในการพิจารณาว่าการกระทำของเอกครบ “องค์ประกอบ” ที่กฎหมายบัญญัติตามโครงสร้างข้อ 1 หรือไม่ ให้พิจารณาตามขั้นตอนดังนี้

(1) ดูว่า เอกมี “การกระทำ” หรือไม่
หากเอกไม่มีการกระทำ ก็ไม่ต้องพิจารณาต่อไป แต่หากเอกมีการกระทำจึงค่อยพิจารณาข้อ (2)

(2) ดูต่อไปว่า การกระทำของเอกตามข้อ (1) นั้นครบ “องค์ประกอบภายนอก” ของความผิดในเรื่องนั้น ๆ หรือไม่หากไม่ครบองค์ประกอบภายนอก หรือที่เรียกกันว่า “ขาดองค์ประกอบ” ก็ไม่ต้องพิจารณาต่อไป แต่หากครบองค์ประกอบภายนอก จึงค่อยพิจารณาข้อ (3)

(3) ดูต่อไปว่า การกระทำของเอก ตามข้อ(1) และ (2) นั้น ครบ “องค์ประกอบภายใน” ของความผิดในเรื่องนั้น ๆ หรือไม่หากไม่ครบองค์ประกอบภายในก็ไม่ต้องพิจารณาต่อไป แต่ถ้าครบองค์ประกอบภายในจะต้องพิจารณาข้อ (4) ต่อไป

(4) ดูต่อไปว่า ผลของการกระทำของเอกสัมพันธ์กับการกระทำของแดงตามหลักในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลหรือไม่ หากสัมพันธ์กันเอกก็จะต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้น หากไม่สัมพันธ์กันเอกก็ไม่ต้องรับผิดในผลนั้น แต่รับผิดเพียงเท่าที่ได้กระทำไปแล้วก่อนเกิดผลนั้นขึ้น

สรุป
การที่เอกใช้มีดฟันแขนของโท การกระทำของเอกครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติแล้ว เพราะ
(1)เอกมีการกระทำ
(2)การกระทำของเอกครบองค์ประกอบภายนอกของความผิด
(3)การกระทำของเอกครบองค์ประกอบภายในของความผิด
(4)อาการบาดเจ็บของโทสัมพันธ์กับการกระทำของเอกตามหลักในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

.
.
.

ต่อไปจะอธิบายเรื่อง การกระทำในโครงสร้างแรก องค์ประกอบข้อที่ 1 นะครับ ... (อย่าลืมติดตามนะครับ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น