วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2551

สิทธิ หน้าที่ ความรับผิด

เครื่องมือของกฎหมายที่ใช้ในการจัดความสัมพันธ์ของคนในสังคมคือ สิทธิ หน้าที่ ความรับผิด

สิทธิ
หมายถึงอำนาจหรือประโยชน์ที่กฎหมายให้ความคุ้มครองให้ หรือความสามารถในการที่จะกระทำการใดๆได้โดยมีกฎหมายรับรอง โดยไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น

หน้าที่
หมายถึง กิจที่ควรหรือต้องทำ เช่นหน้าที่ในการใช้สิทธิเลือกตั้ง หน้าที่ในการชำระหนี้เมื่อเจ้าหนี้เรียกร้องเป็นต้น
ความรับผิด หมายถึงความมีหน้าที่ผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระหนี้ หรือกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง

สิทธิหน้าที่ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1.สิทธิ หน้าที่ทางเอกชน

คำว่า "สิทธิ" ตามกฎหมายเอกชน หมายถึง ความเป็นเจ้าของความมีอำนาจเหนือหรือความสามารถในการจัดการอย่างหนึ่งอย่างใด แบ่งออกเป็น

1. สิทธิเหนือทรัพย์สิน(ทรัพยสิทธิ) และ
2.สิทธิเหนือบุคคล(บุคคลสิทธิ) (ผู้เขียนจะอธิบายถึงทรัพยสิทธิและบุคคลสิทธิโดยละเอียดในภายหน้า)

ส่วนคำว่า "หน้าที่" ตามกฎหมายเอกชน หมายถึง ความผูกพันที่บุคคลจะต้องปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามสิทธิหรือประโยชน์อันชอบธรรมของบุคคล หน้าที่นี้โดยปกติจะเป็นของคู่สัญญาฝ่ายที่เป็นลูกหนี้ ซึ่งจะต้องทำการชำระหนี้โดยการกระทำการ งดเว้นกระทำการหรือส่งมอบทรัพย์สินแก่เจ้าหนี้ของตน

คู่กรณีบนความสัมพันธ์ของสิทธิทางเอกชน
คือ เอกชน กับ เอกชน อาจเรียกกฎหมายที่มีสิทธิทางเอกชนเป็นเครื่องมือในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนว่า กฎหมายเอกชน

ดังนั้น กฎหมายเอกชน (Private Law) คือ กฎข้อบังคับเกี่ยวกับความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวพันทางกฎหมายระหว่างเอกชนด้วยกัน

ตัวอย่างกล่มกฎหมายเอกชน
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (บุคคล ทรัพย์ ครอบครัว มรดก นิติกรรม ละเมิด) เป็นต้น


2.สิทธิ หน้าที่ทางมหาชน

สิทธิ ตามกฎหมายมหาชน หมายถึง อำนาจหรือโอกาสที่มีการรับรองและคุ้มครองและมีทางเลือกว่าจะทำหรือไม่ก็ได้ ใช้ควบคู่กับคำว่า "เสรีภาพ" ซึ่งหมายถึง ความอิสระที่จะกระทำหรืองดเว้นกระทำการรับรองหรือคุ้มครอง

สิทธิเสรีภาพที่กระทำโดยกฎหมายมหาชน เช่น สิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาสิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในครอบครัว เกียรติยศชื่อเสียง ความเป็นอยู่ส่วนตัว เสรีภาพในร่างกาย เสรีภาพในเคหะสถาน เสรีภาพในการนับถือศาสนา

คำว่า "หน้าที่" ตามกฎหมายมหาชน หมายถึง สิ่งที่ต้องปฏิบัติ เช่น หน้าที่ในการใช้สิทธิเลือกตั้ง หน้าที่ของชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ หมายถึง สิ่งที่ประชาชนต้องปฏิบัติในฐานะที่เป็นคนไทย อาทิ หน้าที่ป้องกันประเทศ หน้าที่รับราชการทหาร หน้าที่ในการเรียกภาษีอากร ฯลฯ เป็นต้น

คู่กรณีบนความสัมพันธ์ของสิทธิทางเอกชน
คือ รัฐ กับ เอกชน อาจเรียกกฎหมายที่มีสิทธิทางเอกชนเป็นเครื่องมือในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนว่า กฎหมายมหาชน

ดังนั้น กฎหมายมหาชน (Public Law) ได้แก่ กฎข้อบังคับที่กำหนดสภาพและฐานะของผู้ปกครอง อำนาจกับหน้าที่ของผู้ปกครองและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง คือ รัฐ กับ ผู้ถูกปกครอง (คือ พลเมือง)

ตัวอย่างกลุ่มกฎหมายมหาชน
กฎหมายอาญา กฎหมายปกครอง กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายแรงงาน กฎหมายวิธีพิจารณาความ กฎหมายที่ดินเป็นต้น

ข้อสังเกต
กฎหมายระหว่างประเทศ เป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้กำหนดความสัมพันธ์ของบุคคลระหว่างประเทศ ซึ่งก็คือรัฐและองค์การระหว่างประเทศ(เช่น องค์การสหประชาชาติ) กฎหมายระหว่างประเทศเริ่มเกิดขึ้นในรูปของจารีตประเพณี และมีพัฒนาการมาเป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวคือ สนธิสัญญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น